นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้บริหาร กนอ.ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ Green Transition เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืนกับ 4 องค์กรชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น
โดยเริ่มที่ IHI Corporation เมืองโยโกฮาม่า ที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาด เพื่อศึกษาเทคโนโลยี เช่น Gas turbine ที่ใช้เชื้อเพลิงแอมโมเนีย 100% ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์จาก CO2 (CCU) โดยเฉพาะเทคโนโลยีการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากสารละลายกลุ่ม Amine เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการ Methanation เพื่อผลิตเป็นพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการทางอุตสาหกรรม
ถัดมาได้ไปที่ JFE Urban Recycle Corporation บริษัทชั้นนำด้านการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร ที่ได้เรียนรู้และสอบถามข้อมูลของกระบวนการ ตั้งการถอดแยกชิ้นส่วน การลดขนาด การแยกประเภทวัสดุ การแปรรูปการจัดการสารอันตราย โดยบริษัทฯ ดำเนินการตามหลักการ Polluter Pay Principle ที่ให้เจ้าของขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งและการจัดการ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังได้ศึกษานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ NEC Corporation เช่น การเดินสายเส้นไฟเบอร์ในพื้นที่ใต้น้ำทั่วโลก การพัฒนาระบบเซ็นเซอร์เพื่อประยุกต์ใช้ในงานขนส่ง เช่น พยากรณ์การจราจร การติดตามรถ การตรวจระบบไบโอเมตริกซ์เพื่อระบุตัวตนบุคคล พร้อมศึกษาแนวทางการพัฒนา NEC?s GX Solutions เพื่อส่งเสริมการลดผลกระทบ (Mitigation) และการปรับตัว (Adaptation) ของอุตสาหกรรมและเมืองด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเก็บข้อมูลและวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกตาม Scope 1,2,3 และพัฒนาโมเดลวิเคราะห์ความสูญเสียจากการเกิดภัยพิบัติในประเทศ (Adaptation Finance) ภายในพื้นที่วิจัย NEC Future Creation Hub
สุดท้ายได้ไปศึกษาการดำเนินงานของโรงงานรีไซเคิลดินของ S.P.E.C. (Tokyo Super Eco Town) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรีไซเคิลดินในพื้นที่กรุงโตเกียว เริ่มตั้งแต่การเข้าสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง ตรวจสอบการปนเปื้อนของดิน ขุดดินและนำไปรีไซเคิลตามขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การผสมปูนขาวเพื่อทำให้ดินแห้ง การร่อนแยกขยะ การทำความสะอาดล้างดิน โดยดินที่ผ่านการรีไซเคิลแล้วจะถูกนำไปขายหรือนำไปถมพื้นที่ต่าง ๆ เช่น พื้นที่เหมือง เพื่อปลูกป่า หรือพื้นที่สำหรับสร้าง Solar Farm โดยมีอัตราค่าบริการ 30,000 เยนต่อตัน ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของดินผสม และบริษัทฯ มีกำลังการผลิตรีไซเคิลดิน 1,500 ตันต่อวัน หรือ 30 ล้านตันต่อปี
"การศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของบริษัท IHI และ NEC corporation ตามเป้าหมาย Net Zero ส่วนธุรกิจรีไซเคิลดินของบริษัท S.P.E.C. ก็จะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานตามแนวทาง Circular Economy ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นการเปิดมุมมองใหม่ ๆ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ กนอ.สามารถนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมไทยสู่ Green Transition อย่างยั่งยืน และยกระดับนิคมอุตสาหกรรมไทยให้พร้อมรองรับการลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต" นายสุเมธ กล่าว