นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณารายละเอียดการแก้ไขหนี้ครัวเรือน โดยปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ของธนาคารพาณิชย์ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% จากเดิม 0.46% รวมถึงเงินสนับสนุนจากภาคธนาคาร เบื้องต้นคาดว่าจะลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เป็นระยะเวลา 3 ปี เท่ากับระยะเวลาในการพักดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ที่มีปัญหา
รมช.คลัง ยืนยันว่า การลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการชำระหนี้คืนหนี้ FIDF และฐานะของประเทศ
สำหรับลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่จะได้รับความช่วยเหลือ ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ
1.หนี้ที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยต้องเป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่ 31 ต.ค.67 เพื่อป้องกันการตั้งใจผิดนัดชำระหนี้
2.หนี้รถยนต์ ไม่เกิน 8 แสนบาทต่อคัน โดยต้องเป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี
3.หนี้ SMEs ที่กู้เพื่อประกอบอาชีพ วงไม่เกิน 3 ล้านบาท และต้องเป็นNPL ไม่เกิน 1 ปี
สำหรับจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียมีจำนวนราว 2.3 ล้านบัญชี แบ่งเป็น หนี้บ้าน 4.6 แสนบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 4.8 แสนล้านบาท, หนี้รถยนต์ 1.4 ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.75 แสนล้านบาท และหนี้ SMEs กู้เพื่อประกอบอาชีพ 2.3 ล้านบัญชี มูลหนี้ 4.54 แสนล้านบาท โดยทั้งหมดคิดเป็นมูลหนี้ที่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการช่วยเหลืออยู่ที่ 1.31 ล้านล้านบาท
"หนี้ส่วนใหญ่ จะอยู่ในแบงก์พาณิชย์ โดยผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือ จะต้องเข้าไปยืนยันตัวตนกับธนาคารเจ้าหนี้เท่านั้น จะไม่ใช่การช่วยเหลือโดยอัตโนมัติ" รมช.คลัง ระบุ