เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เดลินิวส์ ออนไลน์เผยแพร่ข่าวในชื่อ "กฟผ.ลุยศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR เร่งทำความเข้าใจ-สอนในรร. ชูพลังงานสะอาด สร้างความมั่นคงปท." ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขยายความว่า ทั่วโลกต่างมีความต้องการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเสถียรภาพจึงไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด ซึ่งการจะทำให้จ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ต้นทุนจะค่อนข้างสูง
กฟผ. จึงมองหาพลังงานทางเลือกใหม่ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจและบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR (Small Modular Reactor) เพราะตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
นอกจากมุมมองของผู้ว่าการ กฟผ. แล้ว SMR ยังถูกกล่าวถึงในนโยบายพลังงานของ Donald J. Trump ใน "Agenda 47: America Must Have the #1 Lowest Cost Energy and Electricity on Earth" ซึ่งมีนโยบายที่ว่า Trump จะสนับสนุนการผลิตพลังงานนิวเคลียร์โดยการทำให้คณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์ (Nuclear Regulatory Commission) ให้ทันสมัย คงการทำงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และลงทุนในนวัตกรรม SMR
จะเห็นได้ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SMR นั้น "มีโอกาส" ที่จะเป็นทางเลือกของความมั่นคงและยั่งยืนทางพลังงานแต่การก่อสร้างและใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นย่อมมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัย ดังนั้น บทความนี้จะตั้งประเด็นวิเคราะห์ว่า "ระบบกฎหมายไทย" พร้อมรองรับและกำกับดูแลเพื่อสร้างความปลอดภัยในการก่อสร้างและใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ และหน่วยงานของรัฐใดจะมีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคในการใช้อำนาจกำกับดูแลดังกล่าว
*โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SMR ทำงานอย่างไร?
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อธิบายว่า SMR คือ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุดถึง 300 เมกะวัตต์ ต่อเครื่อง ซึ่งเทียบเท่าประมาณ 1 ใน 3 ของขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบดั้งเดิม หลักการทำงานของ SMR ยังคงเป็นพลังงานนิวเคลียร์ประเภทฟิชชัน (Nuclear Fission) เพื่อผลิตความร้อนไปขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
โดยสารัตถะแล้ว SMR อาศัยพลังงานนิวเคลียร์จากเตาปฏิกรณ์ (Fission Reactor) ซึ่งสร้างพลังงานโดยทำให้นิวตรอน (n) เข้าชนนิวเคลียสของยูเรเนียม ทำให้แตกออกเป็นสองส่วน (Fission Product) ส่งผลให้มีพลังงานปลดปล่อยออกมาในรูปของรังสีแกมมาและรังสีชนิดอื่นๆ และให้นิวตรอนออกมาจำนวนมากขึ้น โดยเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR นั้นจะมีขนาดเล็กกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไป ซึ่งมักจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ โดยเป็นการผลิตไฟฟ้าแบบที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้พื้นที่ประมาณ 100 ไร่ มีระยะเวลาการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 3-4 ปี โดยอาศัยอุปกรณ์หลักประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงาน และมีกากกัมมันตรังสีในปริมาณน้อยกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่
*พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 กับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เมื่อรัฐจะใช้อำนาจกำกับดูแลก็จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจ และกำหนดกิจกรรมที่ตกอยู่ภายใต้การกำกับดูแล หากนึกถึงพลังงานนิวเคลียร์ กฎหมายที่ "เกี่ยวข้อง" ย่อมได้แก่ พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ซึ่งได้ให้นิยามของ "พลังงานนิวเคลียร์" เอาไว้ว่า "พลังงานที่ปลดปล่อยออกมาจากการแยก รวม หรือแปลงนิวเคลียส" พลังงานนิวเคลียร์จึงเป็น "สิ่งที่ถูกสร้างขึ้น"
คำถามที่ตามมาคือสร้างขึ้นจากที่ไหนและอย่างไร ? คำตอบคือ "เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์" ซึ่งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ได้ให้นิยามเอาไว้ว่า เครื่องหรือระบบอุปกรณ์ใด ๆ ซึ่งออกแบบหรือใช้เพื่อก่อให้เกิดพลังงานนิวเคลียร์ ได้แก่ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงานและเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์สามารถถูกใช้เพื่อผลิตพลังงานได้
โดยกฎหมายได้ให้นิยามของ "เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงาน" เอาไว้ว่า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่นำพลังงานนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์เพื่อผลิตเป็นพลังงานในรูปแบบอื่น ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์นั้นเปรียบเสมือน "ห้องเครื่อง" ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานนิวเคลียร์ที่สามารถถูกใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้เผยแพร่บทความกฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2566 ว่า
"พระราชบัญญัติฉบับนี้มุ่งให้หลักประกันด้านความปลอดภัยในการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ...พระราชบัญญัติฉบับนี้มิได้เป็นกฎหมายที่อำนวยความสะดวกให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่เป็นกฎหมายที่มุ่งสร้างมาตรการความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในมิติใด แต่หากรัฐบาลอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต รัฐบาลเองต้องทำให้ประชาชนยอมรับในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก่อน"
เมื่อพิจารณาตัวบทกฎหมายในพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 แล้วก็จะพบว่าคำอธิบายของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันตินั้นถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการสร้างและใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะ "อยู่นอกการบังคับ" ของกฎหมายฉบับนี้ เช่น หากผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจะต้องใช้วัสดุนิวเคลียร์แล้วก็จะต้องขอรับใบอนุญาตตามกฎหมาย เช่น มาตรา 36 ที่บัญญัติให้การมีไว้ในครอบครองซึ่งวัสดุนิวเคลียร์ (เช่น ยูเรเนียมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ ทอเรียม) นั้นต้องมีการขอรับใบอนุญาตจากเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
ที่สำคัญ พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ได้สร้างระบบใบอนุญาตเพื่อกำกับดูแลการตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ โดยมาตรา 45 บัญญัติว่าผู้ใดจะตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ต้องได้รับใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ และใบอนุญาตดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ จากเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติโดยความเห็นคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ
สำหรับ "ใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์" นั้น มาตรา 51 บัญญัติให้การก่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ (ซึ่งรวมถึงสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงาน) ผู้ประกอบการทางนิวเคลียร์ต้องได้รับใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์จากเลขาธิการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ซึ่งบุคคลที่ประสงค์จะก่อตั้งสถานประกอบการจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตพร้อมด้วยรายงานวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจะต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณโดยรอบพื้นที่ตั้ง เพื่อประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตตามมาตรา 52 พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559
ในส่วน "ใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์" ก่อนที่จะลงมือก่อสร้าง ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่ประสงค์จะก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์มีหน้าที่ตามมาตรา 55 ต้องได้รับใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์จากเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ โดยผู้ขอรับใบอนุญาตยื่นคำขอพร้อมด้วยใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ รายงานวิเคราะห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ฉบับเบื้องต้น และเอกสารหรือหลักฐานทางการเงิน นอกจากนี้ มาตรา 60 ยังบัญญัติห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ดำเนินการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต
ทั้งนี้ ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 การก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์นั้นจะได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร แต่ผู้รับใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องมีมาตรฐานเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงงานและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
ท้ายที่สุดเมื่อจะมีการใช้เตาปฏิกรณ์เพื่อผลิตไฟฟ้าก็จะต้องมีการทดสอบเดินเครื่อง ผู้ประกอบการก็จะต้องได้รับ "ใบอนุญาตดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์" กฎหมายบัญญัติให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายในการตรวจสอบการทดสอบการเดินเครื่อง (มาตรา 62) ทั้งนี้ ก่อนที่จะ "ดำเนินการประกอบการ" ผู้ดำเนินการก่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์จะต้องได้รับใบอนุญาตดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์จากเลขาธิการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติก่อน (มาตรา 64)
จะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 นั้นทำหน้าที่เป็นหลักประกันความปลอดภัยของการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ครอบคลุมไปจนถึงการทดสอบเดินเครื่อง และใช้งานเตาปฏิกรณ์เพื่อการผลิตไฟฟ้า เมื่อผลลัพธ์ที่ได้คือ "ไฟฟ้า" ผู้รับใบอนุญาตประกอบการทางนิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้าดังกล่าวก็จะมีสถานะเป็น "ผู้ผลิตไฟฟ้า" อีกด้วย ส่งผลให้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มีผลบังคับกับการก่อสร้างและใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย
*พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ผู้รับใบอนุญาตประกอบการทางนิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้าโดยอาศัย SMR ซึ่งมีกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ มีหน้าที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ส่งผลให้การก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ก็จะเป็นการปลูกสร้างอาคาร หรือการตั้งโรงงานเพื่อประกอบกิจการพลังงานตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 อีกด้วย
มาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 นั้นเป็นบทบัญญัติในลักษณะ One-Stop-Service บัญญัติให้อำนาจแก่ กกพ. ที่จะให้อนุญาตการก่อสร้างในกรณีที่การปลูกสร้างอาคาร หรือการตั้งโรงงานเพื่อประกอบกิจการพลังงานต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน โดย กกพ. ต้องขอความเห็นจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่าง ๆ
ดังนั้น จึงเกิดประเด็นต้องพิจารณาความทับซ้อนของการใช้อำนาจตามมาตรา 48 ของ กกพ. ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และการตรวจสอบความปลอดภัยในการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559
ตามเอกสารแนบท้ายลำดับที่ 88 กฎกระทรวง กำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน พ.ศ. 2563 โรงงานผลิตไฟฟ้าซึ่ง "ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน" ทุกขนาดเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ส่งผลให้ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หากพิจารณาจากลายลักษณ์อักษรของกฎหมายย่อมมีความเป็นไปได้ที่การผลิตไฟฟ้าโดยอาศัยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อาจถูกพิจารณาว่าเป็นการไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน ในประเด็นนี้รัฐจะต้องสร้างความชัดเจนว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นจะถูกกำกับดูแลมาตรฐานการก่อสร้างแตกต่างไปจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหรือไม่ หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SMR มีสถานะเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 แล้วก็จะส่งผลให้ กกพ. ต้องขอความเห็นจากผู้อนุญาต (ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายตามความเหมาะสม) ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
เมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีสถานะเป็นอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ก็จะส่งผลให้ กกพ. มีอำนาจในการออกใบอนุญาตควบคุมอาคาร โดยจะต้องขอความเห็นจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น คำถามคือเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะพิจารณาการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้หรือไม่
ผลของมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 นั้นอาจทำให้เกิดความทับซ้อนของการตรวจสอบการก่อสร้างกับการกำกับดูแลการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ซึ่งได้บัญญัติข้อยกเว้นให้ผู้รับใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์นั้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
การจะตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งยังต้องขอรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 นั้น บุคคลที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตมีหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ซึ่งมีประเด็นที่ต้องครอบคลุมไปถึงกระบวนการในการรับฟังความเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และมาตรการในการบรรเทาผลกระทบต่อชุมชนและสภาพแวดล้อมในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานประกอบกิจการพลังงาน
อย่างไรก็ตาม กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการในขั้นตอนการขอรับใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559
โดยสรุป ระบบกฎหมายไทยมีเครื่องมือเพื่อกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการก่อสร้างและใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SMR โดยผ่านทั้งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SMR นั้นมีทั้งสถานะเป็นสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ และเป็นสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติและเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคที่จะพิจารณาความเหมาะสมและปลอดภัยในการสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ส่วน กกพ. ย่อมมีบทบาทกำกับดูแลการก่อสร้างและประกอบกิจการพลังงานในมิติของการเป็นโรงไฟฟ้า ความเป็นไปของการทับซ้อนในการกำกับดูแลการก่อสร้างและใช้งานนั้นเป็นประเด็นที่รัฐจะต้องสร้างความชัดเจนโดยต้องคำนึงถึงลักษณะที่แตกต่างของโรงไฟฟ้าทั่วไปกับโรงไฟฟ้าที่อาศัยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้า
ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)
หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย