PwC ประเทศไทย เตือนผู้ประกอบการจะเผชิญความท้าทายด้านกฎหมายและภาษีมากยิ่งขึ้นในปี 68 หลังไทยเดินหน้าเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายภาษีให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และจากการดำเนินการบังคับใช้กฏหมายในการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำกับกลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หรือ "Pillar Two" ในหลายประเทศ ทำให้บริษัทในประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับมาตรการจัดเก็บภาษีนี้ซึ่งอาจกระทบต้นทุนภาษี อีกทั้งควรวางกลยุทธ์ด้านกฎหมายและภาษีให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ทางภาษีที่เปลี่ยนแปลงไป
นายนิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา "Maximising Shareholder Value" ว่า ในปี 68 ผู้ประกอบการไทยจะเผชิญความท้าทายด้านกฎหมายและภาษีมากกว่าที่เคย จากการที่ประเทศไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงในการสมัครเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) โดยได้มีการยื่นหนังสือครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจาก OECD และกลุ่มประเทศสมาชิก ประเทศไทยจะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางภาษีโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพากรไทย อยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายภาษีให้สอดคล้องกับกฎระเบียบด้านภาษีโลกที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง
"การเข้าเป็นสมาชิก OECD อย่างเต็มรูปแบบจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในหลายมิติ เช่น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ การได้รับคำปรึกษาและความช่วยเหลือทางเทคนิคจาก OECD นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก แต่ก่อนที่จะได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกนั้น ประเทศไทยจะต้องได้รับการประเมินความพร้อมตามหลักเกณฑ์ที่ OECD กำหนด ซึ่งไทยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขดังกล่าวให้ครบถ้วน ทำให้เวลานี้หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ กำลังศึกษาและดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ OECD ซึ่งการปรับปรุงกฎหมายและการจัดเก็บภาษีให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลก็เป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย" นายนิพันธ์ กล่าว
นายนิพันธ์ กล่าวว่า หลังจากที่ประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมอนุสัญญาพหุภาคี (Multilateral Instrument) กรมสรรพากรกำลังดำเนินการกำหนดรายละเอียดแนวปฏิบัติ การติดตามและรายงาน รวมถึงแนวทางการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) นโยบายการกำหนดราคาโอน (Transfer Pricing) และแนวทางการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำกับกลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (Pillar Two) เป็นต้น
นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงในการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรแล้ว กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตยังได้ออกนโยบายที่เพิ่มความชัดเจนในการจัดเก็บและตรวจสอบภาษี เนื่องจากเดิมกรมศุลกากรอาจเน้นการตรวจสอบประเด็นค่าสิทธิ แต่จากนี้ไปเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจะดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมระหว่างบริษัทที่เกี่ยวข้องกันอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ขยายขอบเขตจากการตรวจสอบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ไปสู่การตรวจสอบที่มีความละเอียดมากขึ้นในขั้นตอนการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
"นี่ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภาคธุรกิจที่จะต้องติดตามอัปเดตข้อมูลกฎหมายภาษี กฎระเบียบ การตีความ และข้อผิดพลาดทั่วไปที่อาจนำไปสู่การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อนำมาใช้ในการปรับกลยุทธ์ด้านภาษีของตนให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานกำกับได้อย่างทันท่วงที" นายนิพันธ์ กล่าว
*จับตามาตรการ Pillar Two ที่จะเริ่มใช้ปี 68 อย่างใกล้ชิด
ปัจจุบัน ธุรกิจไทยกำลังติดตามแนวปฏิบัติตามมาตรการ Pillar Two จากหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ซึ่งเวลานี้อยู่ระหว่างการผลักดันออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ จากกลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อลดการแข่งขันทางภาษีระหว่างประเทศ ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของ OECD กำหนดว่ากลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้รวมเกิน 750 ล้านยูโรต่อปี จะต้องเสียภาษีอย่างน้อย 15% (global minimum tax) ในแต่ละประเทศที่บริษัทเหล่านี้เข้าไปลงทุน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยในปี 68 ซึ่งการนำกฎหมายภาษีฉบับนี้มาใช้ น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อโครงสร้างภาษีของนิติบุคคล
"ผู้ประกอบการไทยมีความจำเป็นต้องติดตามแนวปฏิบัติด้านกฎหมายและภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการ Pillar Two จากหน่วย งานที่เกี่ยวข้อง เพราะประเด็นภาษีดังกล่าวอาจทำให้ต้นทุนภาษีและต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการวางแผนการเสียภาษีที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งภาระการปฏิบัติตามกฎหมาย และปรับแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและภูมิทัศน์ทางภาษีในประเทศ ตลอดจนปรับกระบวนการและกลไกการรายงานใหม่ ๆ ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องวางแผนกฎหมายและภาษีให้สอดคล้องและเหมาะสมกับมาตรการนี้" นายนิพันธ์ กล่าว
*เตือนผู้ประกอบการวางกลยุทธ์ด้านกฎหมายและภาษีให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ทางภาษีของไทย
นอกจากความท้าทายด้านกฎหมายและภาษีจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่กระกวนการการเข้าเป็นสมาชิก OECD แล้ว หน่วยงานด้านภาษีของไทยอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลภาษี รวมถึงการตรวจสอบภาษีเชิงลึก ดังนั้น ธุรกิจต่าง ๆ จึงควรติดตามอัปเดตกฎหมายภาษีอยู่เสมอ ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติตามกฎระเบียบภาษี และปรับปรุงการดำเนินงานด้านภาษีให้ทันสมัยซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
นอกจากนี้ ธุรกิจควรพัฒนากลยุทธ์ในการรับมือกับการตรวจสอบภาษีที่เข้มข้นมากขึ้น จากการที่กรมสรรพากรได้ปรับโครงสร้างการจัดเก็บ รวมถึงนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการตรวจสอบภาษี เช่น ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) และ AI จึงอาจทำให้ผู้เสียภาษีมีความเสี่ยงที่จะถูกเรียกตรวจสอบมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรวางแผนด้านภาษีครอบคลุมทั้งการเตรียมความพร้อมเชิงกลยุทธ์ การจัดการด้านเอกสาร การจัดการการคืนภาษี และการส่งเสริมแนวทางเชิงรุกในการรับมือกับความท้าทายด้านกฎระเบียบ
"การที่ธุรกิจต้องปรับตัวให้เข้ากับภูมิทัศน์ทางภาษีที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องอาศัยการวางแผนกลยุทธ์ทางภาษีที่มีประสิทธิ์ภาพ ความสามารถในการปรับตัว และความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อีกทั้งการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง การนำเทคโนโลยีมาใช้ และการพัฒนากลยุทธ์ทางภาษีอย่างครอบคลุม เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบหลากหลายมิติ และสามารถเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญความท้าทายด้านโครง สร้างอยู่ในปัจจุบัน" นายนิพันธ์ กล่าว