นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ เรื่อง "ภาษีเงินได้แบบติดลบ (Negative Income Tax: NIT)" ซึ่งเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และเป็นการรวมระบบการหารายได้ และการให้ความช่วยเหลือไว้ในระบบเดียว ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้รูปแบบหนึ่ง
ทั้งนี้ มีข้อค้นพบจากการนำ NIT มาประยุกต์ใช้ในประเทศต่าง ๆ ดังนี้
- แต่ละประเทศนำ NIT มาประยุกต์ใช้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน อาทิ ออสเตรเลีย นำ NIT มาใช้ในรูปแบบภาษีสำหรับครอบครัว (Family Tax Benefit: FTB) เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนรายได้น้อยในการเลี้ยงดูบุตร
- การกำหนดขนาดของสิทธิประโยชน์/เงินช่วยเหลือ กับผู้มีรายได้น้อยที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการลดความยากจนแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มประชากร อาทิ โครงการ Earned Income Tax Credit (EITC) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เครดิตภาษีคืนตามการมีบุตร ทำให้สัดส่วนคนจนของครัวเรือนที่ไม่สมรส และมีสมาชิกที่เป็นเด็ก 3 คน ลดลงถึง 20.2% ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่สมรส และไม่มีเด็ก ลดลงเพียง 1.5%
- NIT มีส่วนในการกระตุ้นให้ผู้มีรายได้น้อยทำงาน แต่เงื่อนไขบางประการอาจลดแรงจูงใจในการทำงานเพิ่ม อาทิ กรณี Workfare Income Supplement (WIS) ของประเทศสิงคโปร์ ประเมินคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับ WIS จากรายได้รวมต่อเดือน ซึ่งครอบคลุมถึงค่าล่วงเวลา โบนัส และค่าคอมมิชชัน จึงส่งผลให้แรงงานส่วนหนึ่งลดการทำงานล่วงเวลาลงจากเดิม
- เงื่อนไขและระบบที่ซับซ้อน เป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงการช่วยเหลือของประชาชน อาทิ เงื่อนไข FTB ของประเทศออสเตรเลีย มีการตรวจสอบทั้งรายได้สุทธิ จำนวน และอายุบุตร ระยะเวลาที่ใช้ในการดูแลบุตร การนำบุตรไปรับวัคซีนตามกำหนด ทำให้ครัวเรือนบางส่วนเสี่ยงที่จะเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะในกรณีที่พ่อแม่แยกทางกัน
- ประเทศที่สามารถนำ NIT มาประยุกต์ใช้และยังสามารถดำเนินการต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนแรงงานนอกระบบต่ำ อาทิ ประเทศสวีเดนที่มีสัดส่วนเพียง 3.3% ขณะที่ประเทศที่เคยนำ NIT มาประยุกต์ใช้แต่ปัจจุบันยกเลิก ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ
อย่างไรก็ดี แม้การนำ NIT มาปรับใช้ จะมีประโยชน์ทั้งกับประชาชน และภาครัฐ แต่ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณา ได้แก่
1. การกำหนดวัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้ความช่วยเหลือให้มีความชัดเจน บนพื้นฐานบริบทของประเทศไทย
2. การกำหนดเกณฑ์รายได้ และระดับการช่วยเหลือให้มีความเหมาะสม โดยต้องมีการศึกษาเพื่อให้สามารถกำหนดเกณฑ์รายได้ที่สามารถจูงใจให้คนทำงานเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม รวมถึงต้องมีการทบทวนเกณฑ์เป็นระยะ เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ
3. การจัดเตรียมงบประมาณเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินการ NIT และศึกษาผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และภาระทางการคลัง อาทิ การพิจารณายกเลิกบางมาตรการที่มีความซ้ำซ้อนของสวัสดิการ โดยรวมการช่วยเหลือเป็นระบบเดียว ควบคู่ไปกับการดึงผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ให้เข้าระบบภาษี พร้อมกับกำหนดบทลงโทษ และบังคับใช้อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันแรงจูงใจในการกระทำผิด (Moral hazard)
"การที่ไทยจะทำ NIT ได้นั้น ต้องนำคนนอกระบบมาอยู่ในระบบก่อนถึงจะทำได้ ต้องมีแรงจูงใจแรงงานนอกระบบ ให้เห็นว่าการเข้าระบบภาษีจะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะสวัสดิการที่จะได้รับ ซึ่งต้องมีการออกแบบตัวระบบให้ดี ต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด ทั้งเกณฑ์รายได้ และระดับให้การช่วยเหลือว่าควรจะเป็นเท่าไร เพื่อให้เกิดแรงจูงใจเข้ามาในระบบ ในต่างประเทศ ภาษีเป็นหน้าที่เกิดมาทุกคนอยู่ในระบบ แต่ของไทยมีความแตกต่างในแง่ของแนวคิด และทัศนคติ ดังนั้น การนำระบบมาใช้ต้องศึกษาอย่างละเอียด ว่าจะจูงใจอย่างไร" นายดนุชา กล่าว