สตรอง! ส่งออกไทย ต.ค.พุ่ง 14.6% มูลค่าแตะ 2.7 หมื่นล้านดอลล์ ทั้งปีลุ้นโต 4% เกินเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 26, 2024 11:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สตรอง! ส่งออกไทย ต.ค.พุ่ง 14.6% มูลค่าแตะ 2.7 หมื่นล้านดอลล์ ทั้งปีลุ้นโต 4% เกินเป้า
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนต.ค. 67 โดยการส่งออก มีมูลค่า 27,222 ล้านดอลลาร์ สูงสุดในรอบ 19 เดือน ขยายตัว 14.6% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จากที่ตลาดคาดโต 5.1-6.3% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 28,016 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.9% ส่งผลให้ในเดือนต.ค.นี้ ไทยขาดดุลการค้า 794.4 ล้านดอลลาร์

ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยช่วง 10 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่ารวม 250,398 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.9% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่ารวม 257,149 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6.6% โดยภาพรวมไทยยังคงขาดดุลการค้าที่ 6,751 ล้านดอลลาร์

สตรอง! ส่งออกไทย ต.ค.พุ่ง 14.6% มูลค่าแตะ 2.7 หมื่นล้านดอลล์ ทั้งปีลุ้นโต 4% เกินเป้า

สำหรับปัจจัยหนุนสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกของไทยในเดือนต.ค.นี้ มาจากการเติบโตของการค้าโลกในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งช่วยหนุนการส่งออกสินค้าของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตให้เติบโตได้ดี, การบริโภคของประเทศคู่ค้าหลักเติบโต และการสั่งซื้อสินค้าวัตถุดิบเข้าสู่คลังสินค้าของภาคอุตสาหกรรม และการสั่งซื้อสินค้าทุน เพื่อรองรับกำลังการผลิต

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดส่งออกไทยปีนี้ มีลุ้นโตได้ถึง 4% เกินเป้าที่ตั้งไว้ คิดเป็นมูลค่าแตะ 3 แสนล้านดอลลาร์

ผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า หากพิจารณาการส่งออกเดือนต.ค. เป็นรายกลุ่มสินค้า จะพบว่าทุกกลุ่มสินค้ายังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

  • สินค้าเกษตร ขยายตัว 6.8% ที่มูลค่า 2,299 ล้านดอลลาร์ โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สำหรับสินค้าสำคัญ ที่การส่งออกขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยางพารา, ข้าว และไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป
  • สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 7.6% ที่มูลค่า 1,927 ล้านดอลลาร์ โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สำหรับสินค้าสำคัญ ที่การส่งออกขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะลกระป๋อง และแปรรูป
  • สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 18.7% ที่มูลค่า 22,025 ล้านดอลลาร์ โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สำหรับสินค้าสำคัญ ที่การส่งออกขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์, เม็ดพลาสติก, เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์

โดยตลาดส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทยในเดือน ต.ค.นี้ ได้แก่ อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 127.1% อันดับ 2 สหราชอาณาจักร ขยายตัว 58.1% อันดับ 3 ลาตินอเมริกา ขยายตัว 31.5% อันดับ 4 CLMV ขยายตัว 27.9% อันดับ 5 สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 25.3% อันดับ 6 สหภาพยุโรป ขยายตัว 22.1% อันดับ 7 แคนาดา ขยายตัว 15.6% อันดับ 8 เอเชียใต้ ขยายตัว 12.8% อันดับ 9 จีน ขยายตัว 8.5% และอันดับ 10 ญี่ปุ่น ขยายตัว 7%

*ทั้งปีมีโอกาสเห็นโต 4%

นายพูนพงษ์ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกทั้งปี 2567 บรรลุเกินกว่าเป้าหมายในการทำงาน (working target) ตามที่ได้ตั้งไว้ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมของคู่ค้า การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น การเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี ประกอบกับต้นทุนโลจิสติกส์ที่เอื้ออำนวยจากการปรับลดลงของค่าระวางเรือ

"ส่งออกอีก 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ เชื่อว่าจะยังบวกได้ต่อเนื่อง ทั้งปีมีโอกาสจะเห็น 4% ไม่ใช่การปรับเป้า แต่เราสามารถทำได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ (เป้า 2%) น่าจะได้เห็นมูลค่าส่งออกรวมทั้งปีที่ 2.96 แสนล้านดอลลาร์ และมีโอกาสขึ้นไปถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ได้...เราได้คุยกับทาง สรท.แล้ว คิดว่าการส่งออกน่าจะขยายตัวได้ต่อ ช่วงที่เหลืออีก 2 เดือน ถ้าทำได้เดือนละ 23,040 ล้านดอลลาร์ ก็จะได้ 4% แน่นอน" นายพูนพงษ์ ระบุ

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทย ยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ในอนาคต ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ รวมถึงผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องเฝ้าติดตามและวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางรับมือที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ต่อไป

* สรท. ชี้โมเมนตัมดีต่อเนื่องไปยังปี 68 ได้

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า รู้สึกสบายใจกับตัวเลขการส่งออกเดือนต.ค.ที่ออกมา ซึ่งไม่ได้เห็นมูลค่าส่งออกที่สูงในระดับ 27,000 ล้านดอลลาร์ มานานถึง 19 เดือนแล้ว และยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจว่าหากภาครัฐและเอกชนสามารถทำงานร่วมกันได้ใกล้ชิดอย่างเช่นที่ผ่านมา ก็จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

"ปีนี้ ปิดส่งออกได้อย่างสบายใจ เหมือนเป็นม้าตีนปลาย เราไม่ได้เห็นตัวเลข 27,000 ล้านดอลลาร์ มานานถึง 19 เดือนแล้ว...มั่นใจว่าในอีก 2 เดือนที่เหลือ (พ.ย.-ธ.ค.) ถ้าทำได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 23,000 ล้านดอลลาร์ ส่งออกปีนี้ มีลุ้น 4% แน่นอน ซึ่งตอนนี้ก็เรียกได้ว่ามี 3% อยู่ในกระเป๋าแน่ ๆ แล้ว" นายชัยชาญ กล่าว

พร้อมระบุว่า หากอัตราแลกเปลี่ยนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 35 บาท/ดอลลาร์ไปจนถึงสิ้นปี ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้สูงที่การส่งออกทั้งปีนี้ จะเติบโตได้ 4% เพราะปัจจุบันเรื่องค่าระวางเรือไม่ได้เป็นปัญหา และเชื่อว่าการส่งออกจะยังมีโมเมนตัมที่ดีต่อเนื่องไปยังปี 68 ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ