สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ต.ค.67 หดตัว 0.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค. 67) หดตัวเฉลี่ย 1.63% พร้อมปรับประมาณการดัชนี MPI ปีนี้ หดตัว 1.6% และ GDP ภาคอุตสาหกรรม หดตัว 1% ส่วนปี 68 คาดดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะกลับมาขยายตัว 1.5-2.5% หลังการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง
- ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 22.19% จากรถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ จากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ หนี้ครัวเรือนสูง และกำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนแอ ขณะที่ตลาดส่งออกชะลอตัวตามความต้องการที่ลดลงของประเทศคู่ค้า
- น้ำมันปาล์ม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 32.60% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากฤดูเก็บเกี่ยวสิ้นสุดเร็วกว่าปีก่อน ตามสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ผลปาล์มสุกเร็วกว่าปีก่อน สำหรับตลาดส่งออกหดตัวหลังภาครัฐขอความร่วมมือลดปริมาณการส่งออก
- ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.02% จาก Integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก โดยเป็นไปตามการชะลอตัวของตลาดโลกจากความไม่แน่นอนด้านการค้าและการลงทุน
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ การผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 โดยลดลงจากตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งการจำหน่ายในประเทศลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง และสถานการณ์หนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ยังอยู่ในระดับที่สูง ทำให้สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง โดยคาดว่ายอดปฏิเสธสินเชื่อทั้งปีนี้อาจอยู่ที่ระดับ 30-40% รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย ผู้บริโภคมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้านำเข้ามากขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่า และความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งสหรัฐ
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเงิน 10,000 บาท เฟสแรก การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคบริการและการผลิตรองรับสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัวเพิ่มขึ้น
ด้านระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือน พ.ย. "ส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง" โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง เนื่องจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์และพื้นที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ด้านความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากความคาดหวังถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่องเช่นเดียวกัน จากภาคการผลิตในสหภาพยุโรปที่ซบเซาและญี่ปุ่นที่เริ่มชะลอตัว ส่วนในสหรัฐอเมริกามาจากความกังวลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของรัฐบาลชุดใหม่
จากตัวเลขดัชนี MPI 10 เดือนปี 67 หดตัว 1.63% ส่งผลให้ สศอ. ปรับประมาณการปี 2567 โดยคาดว่าดัชนี MPI หดตัว 1.6% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมหดตัว 1.0%
สศอ.คาดว่าดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะกลับขยายตัว 1.5 - 2.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าระหว่างประเทศของไทยกับคู่ค้าหลักมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่องและการขยายการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่นเดียวกันกับภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการยังคงมีทิศทางขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐผ่านการลงทุนขนาดใหญ่
แต่ทั้งนี้ยังต้องเฝ้าระวังความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค ซึ่งอาจจะกระทบต่อทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิต ราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และกำลังซื้อ โดยเฉพาะตลาดในสหภาพยุโรป ความไม่แน่นอนของนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ รวมถึงต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ หนี้สินภาคธุรกิจและครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง อาจจะกระทบต่อการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและความต้องการซื้อในสินค้าต่าง ๆ ที่สำคัญได้