สบน. ชี้ลดเงินนำส่ง FIDF แก้หนี้ครัวเรือน ไม่มีผลเพิ่มหนี้สาธารณะ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2024 13:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สบน. ชี้ลดเงินนำส่ง FIDF แก้หนี้ครัวเรือน ไม่มีผลเพิ่มหนี้สาธารณะ

นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงกรณีการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จาก 0.46% เหลือ 0.23% เพื่อดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ว่า มาตรการดังกล่าว ถือเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงสถาบันการเงิน ซึ่งการลดเงินนำส่งดังกล่าว จะไม่มีผลกระทบต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศอย่างแน่นอน

โดยปัจจุบัน สถานะของกองทุน FIDF มีหนี้คงเหลืออยู่อีกกว่า 5 แสนล้านบาท ขณะที่การพิจารณาปรับลดเงินนำส่งดังกล่าวนั้น จะส่งผลให้ระยะเวลาในการชำระหนี้เพิ่มขึ้นอีกราว 1 ปี - 1 ปีครึ่ง และคิดเป็นภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มต่อปี ราว 100-500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน ธปท. เป็นผู้รับผิดชอบภาระของกองทุน FIDF ทั้งหมด ทั้งในส่วนของเงินต้น และดอกเบี้ย มีเพียงแค่สถานะของกองทุนฯ เท่านั้นที่มาแสดงอยู่ในสัดส่วนหนี้สาธารณะ

"ตามกำหนดเดิม จะต้องชำระหนี้ของกองทุน FIDF ครบภายในปี 2575 แต่เมื่อมีการลดเงินนำส่งลง ก็น่าจะส่งผลให้ระยะเวลาในการชำระหนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ภาระทั้งหมดของ FIDF อยู่ที่ ธปท. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลแต่อย่างใด ดังนั้นจึงอยากย้ำว่า ต่อให้ยืดเวลาในการจบหนี้ของ FIDF ออกไป ก็ไม่ได้เป็นภาระแต่อย่างใดกับรัฐบาล จะมีแค่เพียงสถานะของกองทุนฯ เท่านั้น ที่ฝากไว้ในหนี้สาธารณะ" นายพชร กล่าว

ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่าแนวทางการลดเงินนำส่ง FIDF เพื่อดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น เป็นเรื่องที่ ธปท. น่าจะพิจารณาแล้วว่ามีความคุ้มค่ามาก เพราะประโยชน์ส่วนหนึ่งจะเกิดกับลูกหนี้ และอีกส่วนหนึ่งจะกลับไปที่สถาบันการเงินเอง

"จากลูกหนี้ที่ยังไม่กลายเป็นหนี้เสีย หากได้รับความช่วยเหลือ ก็มีโอกาสที่จะกลับมายืนได้ จนอาจจะสามารถกลับมาจ่ายหนี้ได้ด้วย ตรงนี้จะมีส่วนดีกับการตั้งสำรองของสถาบันการเงินในก่อนหน้านี้ และช่วยเรื่องการลดสัดส่วนหนี้เสียของสถาบันการเงินได้อีกด้วย" นายพชร ระบุ

ปัจจุบัน สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ต.ค.67 อยู่ที่ 62.33% ต่อ GDP ต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ที่ 63-64% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในไตรมาส 3/67 ที่ GDP ขยายตัวถึง 3% มาจากเงินงบประมาณของปีงบ 2567 ที่ค้างท่อ และเงินงบประมาณปี 2568 ที่เริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3/67 ถึงไตรมาส 4/67

ขณะที่ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2568 คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทย จะอยู่ที่ราว 63% ต่อ GDP หรือบวกลบเล็กน้อยจากนี้ เนื่องจากคาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะจะขยายตัวได้สูงขึ้น

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า มาตรการช่วยเหลือและแก้ไขหนี้ครัวเรือน จะมีรายละเอียดที่ชัดเจนออกมาก่อนสิ้นปี 2567 โดยแหล่งเงินทุนที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งจะมาจากการลดเงินนำส่ง FIDF เหลือลด 0.23% และเงินส่วนหนึ่งจากธนาคารพาณิชย์เข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ