TFPA หนุนใช้ AI เพิ่มความแม่นยำวางแผนการเงินยุคดิจิทัล ท่ามกลางดีมานด์หลากหลาย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2024 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้เล็งเห็นถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ที่มีผลต่อการวางแผนการเงิน โดยเห็นว่า AI จะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อนักวางแผนการเงินในแง่ของการเสริมประสิทธิภาพการทำงาน และการให้บริการที่มีความแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ AI ยังไม่สามารถแทนที่ความสามารถของมนุษย์อย่างสมบูรณ์ เพราะในการให้คำแนะนำกับลูกค้า ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความต้องการที่หลากหลายและภายใต้สถานการณ์ที่ซับซ้อนของลูกค้า ความเข้าใจในอารมณ์และความรู้สึกของลูกค้า ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจเชิงลึก รวมถึงในมิติของการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และการสร้างความไว้วางใจ ซึ่ง AI ยังขาดทักษะในด้านนี้ และ 3) สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) และทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบดิจิทัล (Digtial Intellectual Property) และกระบวนการบริหารจัดการส่งมอบให้ทายาท

*คปภ. เตรียมพร้อมรับ AI

น.ส.ชญานิน เกิดผลงาม รองเลขาธิการ ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการขับเคลื่อนภายในสำนักงาน คปภ. และอุตสาหกรรมประกันภัย จึงได้พัฒนา "โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี" เพื่อรองรับ ได้แก่

1) "การแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล" โดยการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันทุกมิติ เช่น การรับเรื่องร้องเรียนด้านประกันภัย, โมบายแอปพลิเคชัน OIC Protect การออกใบอนุญาตด้วยระบบ E-License เป็นต้น

2) "การเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการประกันภัย" โดยดำเนินการพัฒนา Insurance Bureau System (IBS) และ OIC Gateway เพื่อให้บริการข้อมูลแก่อุตสาหกรรมประกันภัย และมีแผนขยายบริการข้อมูลไปสู่ทายาทผู้เอาประกันภัยในปี 2568

3) "ข้อมูลเปิดด้านการประกันภัย" เช่น พัฒนา OIC connect การเชื่อมข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก เป็นต้น

ทั้งนี้ McKinsey บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก ได้ประมาณการว่าเทคโนโลยี AI จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยทั่วโลกได้ถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยมีตัวอย่างของบริษัทที่นำ AI มาเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน เช่น PINGAN บริษัทประกันภัยรายใหญ่จากจีน นำ AI มาใช้ในกระบวนการเคลมประกันภัยรถแบบครบวงจร Lemonade จากสหรัฐฯ นำ AI ใช้ประเมินความเสี่ยงและอนุมัติกรรมธรรม์ประกันภัย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมประกันภัยในประเทศไทยอยู่ในระยะแรกของการประยุกต์ใช้ Generative AI โดยมีผลสำรวจพบว่า มีองค์กร 30.8% ที่เริ่มใช้งาน Generative AI แล้ว และในจำนวนนี้ 19.2% ได้ใช้งานต่อเนื่องกว่า 1 ปี และ 23.1% ใช้งานแล้ว 6-12 เดือน

อีกทั้ง พบว่า 5 อันดับแรกของประเภทการใช้งาน Generative AI ของบริษัทประกันภัย ได้แก่ 1) ปรับปรุงกระบวนการเคลมประกันภัย 2) ตรวจสอบการทุจริตเคลมประกัน 3) กำหนดราคา 4) บริการลูกค้า และ 5) กิจกรรมการตลาด โดยในปี 2568 สำนักงาน คปภ. มีแผนจัดทำ AI Framework เพื่อกำกับดูแลและสร้างความสมดุลในการใช้ AI เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ และจริยธรรม

*นำ AI ปรับใช้กับ Micro Lending/วิเคราะห์ข้อมูล

นายธีรสิทธิ์ เกษตรเกษม กรรมการสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย กล่าวถึงการปฏิวัติการเงินและประกันภัยด้วย AI & Data Analytics ว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการสรุปและวิเคราะห์ข้อมูล โดยในอุตสาหกรรมการเงินสามารถนำมาปรับใช้กับ Micro Lending หรือ สินเชื่อรายย่อย โดยคนกลุ่มนี้อาจไม่มีประวัติในฐานข้อมูลระบบการเงิน หากนำ AI มาใช้ก็จะช่วยรวบรวมข้อมูลประวัติการใช้ชีวิตและพฤติกรรมทางการเงินบางอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าควรอนุมัติสินเชื่อหรือไม่ วงเงินเท่าไร และเหมาะกับสินเชื่อประเภทไหน หรือใช้เพื่อพิจารณาสินเชื่อแก่เกษตรกร โดยการนำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่เพื่อนำมาวิเคราะห์การให้สินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม มองว่า AI ยังไม่สามารถทดแทนการทำงานของมนุษย์ได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่มีความรู้สึก แตกต่างจากนักวางแผนการเงินเมื่อได้พูดคุยกับลูกค้า ก็อาจจะเข้าใจในสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ดีกว่า

นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ViaLink และกรรมการผู้จัดการแห่งสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า AI มีความสามารถพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด และจะมีผลกระทบต่อการทำงานของหลากหลายอาชีพ เช่น AI สามารถวิเคราะห์การทำ Discount Cashflow (DCF) ซึ่งต้องใช้ข้อมูลและระยะเวลา แต่ AI สามารถวิเคราะห์ได้ในระยะเวลาไม่นานและสามารถแสดงข้อมูลในเชิงสถิติได้ นำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

ดังนั้น มองว่าในอนาคตการนำ AI มาใช้ในการเคลมประกันภัย การตอบคำถามผ่านระบบแชตบอท หรืองานที่ต้องทำเป็นประจำซ้ำกันทุกวัน จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการใช้ AI ก็มีเช่นกัน เช่น ต้นทุนการใช้สำหรับ SME จะสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ จะต้องมีมนุษย์มารับผิดชอบเมื่อมีการตัดสินใจใช้ข้อมูลที่มาจากการวิเคราะห์ของ AI

*ก.ล.ต. เตรียมย้าย Investment Token อยู่ใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

น.ส.นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงสถานะแนวนโยบาย การกำกับดูแล และพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ในประเทศไทยและต่างประเทศว่า ประเทศไทยได้มีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ในการกำกับดูแล Digital Asset และได้มีทบทวนหลักเกณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับสากล

โดยสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

1. คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เช่น Bitcoin, Ethereum เป็นต้น

2. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) เช่น สิทธิในส่วนแบ่งรายได้ ผลกำไรจากการลงทุน ซึ่งคล้ายกับหลักทรัพย์

สำนักงาน ก.ล.ต.จึงอยู่ระหว่างเสนอปรับปรุงให้ Investment token บางลักษณะเป็น "หลักทรัพย์" และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันประเทศไทยได้เสนอขาย Investment token แล้ว 3 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 5.1 พันล้านบาท ได้แก่ สิริฮับ เดสทินี โทเคน และเรียลเอ็กซ์ และอยู่ระหว่างหารือเพื่อเสนอขายอีก 10 ราย

3. โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง

ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำกับดูแลการเสนอขาย Digital Asset เพื่อระดมทุน จะต้องดำเนินการเช่นเดียวกับการเสนอขาย IPO โดยจะต้องขออนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ขณะที่การเสนอขาย Investment token จะต้องมีผู้ให้บริการระบบเสนอขาย (ICO Portal) เป็นระยะเวลา 1 ปี และมีทรัสตี (Trustee) เข้ามารับโอนทรัพย์สินโดยทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของผู้ถือ Token ซึ่งในเร็วๆ นี้ อาจจะได้เห็น Investment Token ที่ระดมทุนในโครงการผลิตคาร์บอนเครดิต (Carbon credit)

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงเรื่องภาษีของสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตั้งแต่ต้นปี 2567 ผู้เสนอขาย Investment token ได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนผู้ลงทุนใน Investment token และ Real Estate-Backed Token จะเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 15% แต่สามารถยื่นเสียภาษีพร้อมกันกับภาษีเงินได้ในช่วงปลายปีได้ และเสียภาษีจากส่วนต่างการขายสินทรัพย์ฯ (Capital Gain Tax) ขณะที่ Cryptocurrency ที่เทรดในตลาดทั่วไปได้รับการยกเว้น VAT และสามารถนำกำไรขาดทุนมาหักลบกันได้ ส่วน Utility Token มีการเสีย VAT ซ้ำซ้อนทั้งตอนออก Token และตอนใช้สิทธิ์ ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกรมสรรพากร ให้มีการเสียภาษีเทียบเคียงกับ Token ทั่วไป

*แนะจัดทำทะเบียนทรัพย์สินในรูปแบบออนไลน์ ส่งมอบให้ทายาท

นายเกษม เกียรติเสรีกุล หัวหน้าสายงานบริการด้านภาษีอากร EY Thailand กล่าวถึง การจัดการและการส่งมอบ Digital Intellectual Property & Digital Asset ว่า ตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กำหนดว่าผู้ถือครองสิทธิอนุญาตให้ขาย หรือผลิตและขาย หลังหักค่าใช้จ่ายจะเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 5-35% ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัล ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ผลประโยชน์จากการครอบครองหรือหากจำหน่าย จ่ายโอนหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล เงินได้ที่เกินกว่าที่ลงทุน ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% และเสียภาษีเงินได้อีก 5-35%

โดยสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถเก็บรักษาในหลากหลายรูปแบบ เช่น Hot Wallet กระเป๋าเงินที่สร้างขึ้นบนระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบและมีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา แต่มีความเสี่ยงถูกแฮ็ก และความมั่นคงของ Broker หรือ Platform ส่วน Cold Wallet กระเป๋าเงินที่สร้างในรูปแบบ Hardware และไม่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต มีความปลอดภัยมากกว่า หากสูญหายก็ยากที่จะเข้าถึงการใช้งานใน Private Key ได้

นายกิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ. เมพ คอร์ปอเรชั่น (MEB) กล่าวว่า การส่งมอบ Intellectual Property & Digital Asset ให้กับทายาท ควรมีการจัดทำทะเบียนทรัพย์สินและพินัยกรรม เพื่อให้ทายาทได้ทราบถึงจำนวน Digital Asset ที่มี โดยอาจทำทะเบียนทรัพย์สินในรูปแบบออนไลน์ซึ่งหากเจ้าของไม่ได้ใช้อีเมลเป็นเวลานาน ระบบจะมีอีเมลแจ้งเตือนไปยังอีเมลของทายาทที่ระบุไว้ในระบบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ