บมจ. สหการประมูล (AUCT) ผนึกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว ชี้ตลาดปี 67-68 ทรงตัว หลังเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดของสถาบันการเงิน แต่คาดราคาขยับ ขึ้น 10-15% แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนากลยุทธ์การขายออนไลน์ เน้นการให้ข้อมูลที่สร้างความคุ้มค่าของรถยนต์ใช้แล้ว
นายวิสุทธิ์ เหมพรรณไพเราะ ประธานกิตติมศักดิ์ และผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว คาดการณ์ภาพรวมตลาดรถยนต์ใช้แล้วในปี 2567 ในลักษณะตลาด B2C ว่า ยอดขายอาจลดลงประมาณ 5% เมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคหันมาใช้เงินสดมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ขณะที่การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้ว คาดว่าจะหดตัวลงราว 5.5-6% ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง หลังจากในปี 2566 มีการหดตัว 4% จากปี 2565
สำหรับสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน แม้ยังคงเติบโต แต่พบว่าอัตราการเติบโตชะลอลงมาอยู่ที่ 17% ในปี 2567 เมื่อเทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 35% ในช่วงปี 2565-2566
ขณะที่แนวโน้มธุรกิจรถยนต์ใช้แล้วในปี 2568 จะยังคงได้รับผลกระทบจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ เนื่องจากขาดแรงกระตุ้นจากปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจ โดยกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงเปราะบางและจำกัด ส่งผลให้พฤติกรรมการครอบครองรถยนต์เปลี่ยนไปในทิศทางที่ใช้งานรถยนต์เดิมนานขึ้น อีกทั้งการแข่งขันด้านราคาของรถยนต์ใหม่ที่รุนแรง ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดรถยนต์ใช้แล้ว ทำให้ต้นทุนการขาย และราคาตลาดลดลงในบางกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม รถยนต์ที่มีคุณภาพดี หรือใช้งานน้อยยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภค เนื่องจากมีความคุ้มค่ากว่าการซื้อรถใหม่
นายสุธี สมาธิ กรรมการผู้จัดการ AUCT คาดการณ์ว่า ในปี 2568 จะมีรถยนต์ใช้แล้วเข้าสู่ลานประมูลราว 2.5 แสนคัน ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย เช่น NPL ที่ยังทรงตัว หนี้ครัวเรือนที่สูง และการเติบโตของสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยราคารถยนต์ใช้แล้ว น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15%
"ยอดรถที่เข้าลานประมูลที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ถึง 60% เป็นรถปิกอัพที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินของกลุ่มรากหญ้า" นายสุธี กล่าว
ส่วนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าใช้แล้วยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยปี 2566 มีรถเข้าสู่การประมูลเพียง 40 คัน และคาดว่าในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็นราว 100 คัน แม้จะเติบโตแต่ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป
สำหรับรถใหมในปี 2568 คาดว่าจะมีปริมาณใกล้เคียงปีนี้ที่ราว 5.5 - 5.7 แสนคัน และน่าจะทรงตัวในระดับนี้ต่อเนื่องอีกประมาณ 1-2 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ปริมาณรถใช้งานน้อยในตลาดรถยนต์ใช้แล้วลดลง ส่งผลให้รถกลุ่มนี้มีราคาดี และได้รับความสนใจจากลูกค้ามากขึ้น เนื่องจากปัจจัยด้านราคาที่ถูกกว่าการซื้อรถยนต์ใหม่ค่อนข้างชัตเจน
"โดยสรุป AUCT เชื่อว่าปี 2568 ตลาดรถยนต์ใช้แล้วจะทรงตัว พร้อมการเติบโตในบางกลุ่ม ขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจ และมาตรการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยปัจจัยเหล่านี้ จะส่งผลต่อการซื้อ-ขายผ่านการประมูล ที่คาดว่าจะมีอัตราจบประมูลเพิ่มขึ้น และราคารถปรับตัวสูงขึ้น" นายสุธี ระบุ
ด้านนายสุวิทย์ ชอบประดู่ รองนายกสมาคม ฝ่ายสถาบันการเงินและพัฒนาวิชาชีพ สมาคมผู้ประกอบการยนต์ใช้แล้ว เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ใช้แล้วเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ โดยสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้วมีสัดส่วน 40% ของสินเชื่อยานยนต์ ส่วนรถ EV ก็ยังมีปัญหาเรื่องการผลิตชิ้นส่วนและแบตเตอรี่ รวมไปถึงเรื่องสินเชื่อและประกันภัย
"การทำสงครามราคาส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งการปล่อยสินเชื่อ การทำประกัน ทำให้รถ EV มือสองที่ใช้งานมาแค่ 3 ปี ราคาลดลงกว่า 50% ไฟแนนซ์ก็ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ ประกันก็ไม่รับ" นายสุวิทย์ กล่าว
ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดรถยนต์ใช้แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ตามสภาวะเศรษฐกิจและการพัฒนาทางเทคโนโลยี โดยปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการหาข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ที่มีคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสม พร้อมปัจจัยสนับสนุน เช่น การรับประกันคุณภาพ และการตรวจสอบจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ เทคโนโลยีออนไลน์มีบทบาทสำคัญในพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ โดยการค้นหา เปรียบเทียบราคา และข้อมูลต่าง ๆ สามารถทำได้สะดวกมากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องต้องปรับตัว ด้วยการพัฒนากลยุทธ์ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
นายสุวิทย์ เน้นย้ำว่า การปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล และการยกระดับคุณภาพบริการ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค พร้อมทั้งส่งเสริมให้ตลาดรถยนต์ใช้แล้ว ให้ก้าวไปข้างหน้าในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมการซื้อขาย