ผู้เลี้ยงแฉขบวนการหมูเถื่อนแก้เกมแยกใส่กล่องทยอยลักลอบเข้าชายแดนวอน DSI สอดส่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 29, 2024 11:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เลี้ยงแฉขบวนการหมูเถื่อนแก้เกมแยกใส่กล่องทยอยลักลอบเข้าชายแดนวอน DSI สอดส่อง

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า มีความพอใจที่ได้เห็นความคืบหน้าในคดีหมูเถื่อน จากการดำเนินงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ขณะเดียวกัน ขอให้ช่วยสอดส่องดูแลการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ที่ยังคงมีทยอยเข้ามาในประเทศไทยทางฝั่งชายแดนภาคใต้ และภาคอีสาน โดยเฉพาะชิ้นส่วนหมู เช่น หนังหมู และเครื่องในหมู

นายสิทธิพันธ์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ ทำงานอย่างหนักในการตรวจจับหมูเถื่อน แต่กลุ่มผู้ลักลอบก็หาวิธีปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยนำเข้าหมูเถื่อนในกล่องแล้ว เมื่อมาถึงชายแดนก็จะฉีกกล่องบรรจุภัณฑ์ทำลายหลักฐาน และนำเข้ามาเฉพาะเนื้อหมู และเครื่องใน เพื่อเลี่ยงการตรวจจับ

"ตอนนี้สถานการณ์หมูเถื่อนดีขึ้น แต่ยังไม่หมดไป เราพบว่ายังมีการลักลอบเข้ามาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะทางภาคใต้ และชายแดนอีสาน พวกเขานำเข้าเฉพาะชิ้นส่วน ทำลายบรรจุภัณฑ์เพื่ออำพราง เลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ กรณีเช่นนี้อยากขอให้ DSI ช่วยสอดส่องดูแลด้วย เนื่องจากอาจมีความเชื่อมโยงกับคดีที่กำลังดำเนินการอยู่" นายสิทธิพันธ์ กล่าว

นอกจากนี้ เกษตรกรรายย่อยที่ยังคงถูกกดราคาโดยโบรกเกอร์ หรือพ่อค้าคนกลาง ทำให้ขายไม่ได้ราคา แม้ราคาหมูในประเทศจะทรงตัว และผู้ประกอบการหลายรายจะสามารถทำกำไรได้ แต่เกษตรกรรายย่อยยังคงต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ในการดูแลและสร้างความเป็นธรรมในกรณีนี้

"ราคาหมูในประเทศตอนนี้ค่อนข้างทรงตัว ผู้ประกอบการรายกลาง-รายใหญ่ก็พออยู่ได้ แต่เกษตรกรรายย่อยยังได้รับผลกระทบจากการถูกกดราคาของพ่อค้าคนกลาง ขอให้ภาครัฐช่วยเหลือดูแลเรื่องนี้ด้วย เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยสามารถทำอาชีพนี้ต่อไปได้" นายสิทธิพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เชื่อในความสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน และสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่กลุ่มผู้ลักลอบหมูเถื่อนได้ปรับเปลี่ยนวิธีการอย่างต่อเนื่อง รัฐจำเป็นต้องบูรณาการการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด

อนึ่ง คดีหมูเถื่อนในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นในปี 64 โดยมีการลักลอบนำเข้าหมู และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ อย่างผิดกฎหมายจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและตลาดหมูในประเทศอย่างรุนแรง หลังปริมาณหมูหายไปจากระบบถึง 50% ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน โดยมีการออกหมายจับบุคคล และนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนี้ จนถึงปัจจุบันคดีหมูเถื่อนยังอยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ