นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เดินเครื่องเต็มที่ในการออกมาตรการดูแลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งกลุ่มที่ประสบอุทกภัยและไม่ประสบอุทกภัย เนื่องจากเล็งเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในขณะนี้เริ่มมีทิศทางการฟื้นตัวดีขึ้น และน่าจะกลับไปถึงจุดที่รุ่งเรืองได้จากการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค และจากการออกมาตรการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจึงได้จัดงาน "ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา" ซึ่งจะมีการเติมเงินเข้าสู่ระบบเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจะหารือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อให้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนคล้ายกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น การยกดอกเบี้ยให้กับประชาชนที่มีศักยภาพ และปรับลดเงินต้นให้มีภาระลดน้อยลง ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปี 2567
ขณะที่ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้นั้นจะต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลืออย่างแน่นอน โดยมาตรการช่วยเหลือนั้นจะดำเนอนการในกรอบหรือโมเดลเดียวกันกับภาคเหนือ ส่วนการฟื้นฟูภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมนั้นเชื่อว่าจะมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ออกมา โดยมองว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มากที่สุด
"สำหรับซอฟต์โลนนั้นอัตราดอกเบี้ยจะแล้วแต่เครดิตของลูกหนี้หรือผู้กู้ แต่โดยปกติแล้วจะถูกลงประมาณ 3-4% โดยในภาคใต้ถ้ายังเหลือก็ใช้วงเงิน 50,000 ล้านบาทจากซอฟต์โลนตรงนี้ได้ แต่ที่ได้คุยกับธนาคารออมสินไว้ว่าวันนี้ตั้งวงเงินเท่านี้ และหากยังมีความต้องการก็ยินดีที่จะเพิ่มได้อีก 50,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าวงเงินนี้สามารถไปใช้ที่ทางใต้ได้ด้วย" นายลวรณ กล่าว
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคเหนือนั้นขณะนี้อยู่ในช่วงของการฟื้นฟูเรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งอำเภอแม่สายถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนที่สำคัญ โดยการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 8 แห่งที่ผ่านมาได้ออกมาตรการช่วยเหลือทั้งพักเงินต้น พักดอกเบี้ย ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาการชำระหนี้ สินเชื่อฉุกเฉิน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นความร่วมมือของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ออกมาเยียวยาประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โดยได้มีการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ไปแล้วมากกว่า 740,000 ราย รวมยอดหนี้มากกว่า 94,000 ล้านบาท
สำหรับการดำเนินมาตรการด้านการเงินในระยะต่อไปจะเป็นการเน้นเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการฟื้นฟูและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ประชาชนสามารถกลับมามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดี ในส่วนการค้าชายแดน ยืนยันว่า ธุรกิจยังจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือ โดยเฉพาะเงินทุนที่จะต้องเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ซึ่งยืนยันว่า ซอฟต์โลนจะเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่