นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่าจีนอาจใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนรับมือกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ที่ตั้งอัตราภาษี 60% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนทุกประเภทที่กดดันให้เงินหยวนอ่อนค่าและดอลลาร์แข็งค่า เพราะการเกินดุลการค้าของจีนต่อสหรัฐฯ จะลดลงทันที และการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีนจะลดลงเช่นเดียวกัน
ผลกระทบจะเกิดขึ้นทันทีหลังการปรับขึ้นภาษีจากอัตราภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สำนักวิจัยของสถาบันการเงินระหว่างประเทศมองไปทิศทางเดียวกันว่า เงินหยวนจะอ่อนค่าลงสู่ค่าเฉลี่ย 7.51-7.60 หยวน/ดอลลาร์ในปีหน้า โดย Capital Economics มองปลายปีหน้าเงินหยวนอาจอ่อนค่าแตะระดับ 8 หยวน/ดอลลาร์ได้ ขณะที่มีความเป็นได้สูงมากที่จีนจะปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่า และหากจีนสามารถป้องกันผลกระทบจากแรงกดดันเงินเฟ้อจากการอ่อนค่าเงินหยวนได้ ทางการจีนอาจปล่อยเงินหยวนอ่อนค่าไปเรื่อย ๆ และอาจเข้าแทรกแซงกดค่าเงินให้อ่อนเพื่อหักล้างผลกระทบต่อภาคส่งออกจากขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ หากเงินหยวนอ่อนค่าลงสู่ระดับ 8.42 หยวน/ดอลลาร์จะช่วยลดผลกระทบจากอัตราภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น 60% ได้
อย่างไรก็ตามเงินหยวนที่อ่อนเร็วเกินไปอาจกระตุ้นให้เงินไหลออกและสร้างความตื่นตระหนกต่อตลาดการเงินได้ และมีความเป็นไปได้ต่ำมากที่ธนาคารกลางจีนจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อพยุงค่าเงินเพราะจะส่งผลลบต่ออัตราการขยายตัวที่ต่ำอยู่แล้ว สงครามการค้าในสมัยรัฐบาลทรัมป์ 1 ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงประมาณ 5-6% ในรอบนั้น
แม้เงินบาทและค่าเงินภูมิภาคอ่อนค่าแต่จะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อไม่มาก และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อปีหน้าเฉลี่ยของไทยจะไม่เกิน 1% โดยปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยจะอยู่ที่ 0.5% แต่การตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ อาจเกิดแรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐฯ แต่ผลกระทบนี้จะถูกหักล้างโดยดอลลาร์แข็งค่า ส่งออกไทยปีหน้าชะลอตัวจากสงครามการค้าอย่างแน่นอนโดยเฉพาะจากนโยบายกีดกันทางการค้า ทรัมป์ 2.0
อัตราการขยายตัวของการส่งออกจะเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปีนี้และมีโอกาสที่อัตราการขยายตัวการส่งออกแตะระดับ 4% ในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งนำเข้าก่อนการขึ้นกำแพงภาษี การเร่งการนำเข้าของผู้นำเข้าในสหรัฐฯ ในระยะนี้จะส่งผลต่อมูลค่าส่งออกโดยรวมของไทยช่วงปลายปีเพิ่มขึ้นได้จากสัดส่วนส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ คิดเป็น 25-26% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด
อย่างไรก็ตามอัตราการขยายตัวส่งออกปีหน้าจะอ่อนแอลงสู่ระดับ 2-3% จากปริมาณการค้าและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง รวมทั้งผลของการกีดกันทางการค้าและการตอบโต้กันด้วยกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า ไทยเป็นกลุ่มประเทศที่เกินดุลการค้าจากสหรัฐฯ ในระดับสูง โดยช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ไทยเกินดุลสหรัฐฯ ประมาณ 23,000 ล้านดอลลาร์ เกินดุลการค้าสหรัฐฯ สูงสุดในอันดับ 9 ส่งออกจากไทยอาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นอัตราภาษี 10% ในปี 2568 การขึ้นกำแพงภาษีสินค้าต่อไทยอาจสูงขึ้นอีกจาก 10% ซึ่งเป็นขั้นเริ่มต้นขึ้นไปจนกว่าจะถึงจุดสมดุลการค้ากับประเทศไทย ซึ่งอาจเป็น 12-15% ก็ได้
หากยังไม่มีการปรับกำแพงภาษีใด ๆ ในปี 2568 จะทำให้เกิดภาวะเร่งการนำเข้าสินค้านำเข้าจากไทยซึ่งจะทำให้อัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ จากการประเมินของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่า ถ้าสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย 10% และขึ้นภาษีนำเข้า 60% จากจีนในปี 2568 จะทำให้อัตราการขยายตัวส่งออกไทยปีหน้าอยู่ที่ 1.24% ถ้าสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย 15% และขึ้นภาษีนำเข้า 60% จากจีนในปีหน้าจะทำให้อัตราการขยายตัวส่งออกไทยอยู่ที่ 0.72% ในปี 2568 อัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกที่ต่ำกว่า 1% ย่อมสร้างแรงกดดันต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก
อัตราการขยายตัวของสินค้าเกษตรและอาหารที่มีสัดส่วนวัตถุดิบภายในประเทศสูงที่ยังดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าส่งออกโดยรวมจะต่ำลงแต่โครงสร้างกระจายตัวของรายได้และผลประโยชน์จากการส่งออกยังตกกับคนในประเทศในสัดส่วนสูง หากไม่มีการขึ้นภาษีนำเข้าใด ๆ ของสหรัฐฯ ในปีหน้าจะทำให้อัตราการขยายตัวของภาคส่งออกอยู่ที่ระดับ 2.8% ตามการคาดการณ์ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ
แม้ภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่คาดว่าภาคการลงทุนและภาคการท่องเที่ยวจะช่วยประคับประคองไม่ให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่า 2.5% ได้ในปี 2568 ส่วนภาคการบริโภคอาจได้รับการกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการแจกเงินในระยะต่อไปแต่จะส่งผลบวกระยะสั้นตราบเท่าที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะยังอยู่ในระดับสูงกว่า 75% และการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะลดลงต่อเนื่องในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2567 แต่ลดลงจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนขยายตัวต่ำเป็นประวัติการณ์และสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่ออย่างมาก ทางการต้องเพิ่มสวัสดิการ ลดค่าครองชีพ จัดฝึกอบรมเพิ่มทักษะการทำงานให้กับกลุ่มรายได้น้อย นอกจากนี้ต้องดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก เพิ่มรายได้ หาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
จากผลสำรวจหนี้ครัวเรือนในปีนี้ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ พบว่า หนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนโดยรวมอยู่ที่ 606,378 บาท/ครัวเรือน คิดเป็นสินเชื่อในระบบ 69.9% นอกระบบ 30.1% มีภาระผ่อนชำระรายเดือนโดยเฉลี่ยครัวเรือนละ 18,787.38 บาท การกู้ยืมเงินส่วนใหญ่อันดับแรกนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (เพื่ออุปโภคบริโภค) 24.3% ใช้จ่ายบัตรเครดิต 20.7% ใช้หนี้เก่า 18.6% ส่วนที่กู้ยืมเพื่อประกอบธุรกิจเพียงแค่ 11.7% ที่อยู่อาศัย 9.9% ยานพาหนะ 6.8% การศึกษา 3.4% รักษาพยาบาล 2.6%
การลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพี (Debt Deleveraging) เป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยลดความเปราะบางทางการเงินให้แก่ภาคครัวเรือนท่ามกลางความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจภายนอกและภายในประเทศ การลงทุนสร้างงาน สร้างรายได้จะมีประสิทธิภาพสูงกว่า ยั่งยืนกว่า การกระตุ้นการบริโภคหรือการพักหนี้ ในกระบวนการ Debt Deleveraging มาตรการต้องมุ่งไปที่กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเปราะบาง กลุ่มครัวเรือนเปราะบางต้องออกแบบมาตรการให้ครอบคลุมและตอบโจทย์ลูกหนี้ที่มีลักษณะปัญหาต่าง ๆ กัน