กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.00-34.75 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.24 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.21-34.78 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์อ่อนค่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดอลลาร์ได้แรงหนุนในช่วงแรก หลังโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศว่าสหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้า 25% จากสินค้าทั้งหมดที่มาจากเม็กซิโก และแคนาดา ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และจะเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมอีก 10% จากสินค้าจีน พร้อมระบุว่ามาตรการนี้เป็นการตอบโต้การค้ายาและการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
ส่วนดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ของสหรัฐฯ ปรับขึ้น 2.8% ในเดือนต.ค. โดยเร่งตัวจาก 2.7% ในเดือนก.ย. จากราคาในหมวดบริการเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ดอลลาร์ย่อลงท่ามกลางปริมาณธุรกรรมเบาบาง ขณะที่เงินเยน แตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 6 สัปดาห์ จากมุมมองที่ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 4,282 ล้านบาท แต่มียอดซื้อพันธบัตรสุทธิ 5,166 ล้านบาท ส่วนในเดือนพ.ย. เงินบาทอ่อนค่า 1.4%
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับข้อมูลภาคบริการและการจ้างงานเดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ เพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในระยะถัดไป ขณะที่ผู้ร่วมตลาดมองว่า คำขู่เกี่ยวกับการขึ้นอัตราศุลกากรของทรัมป์ เป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองสำหรับประเด็นทางสังคมหรือด้านอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ราคาสินทรัพย์ทางการเงินมีแนวโน้มผันผวนสูง เนื่องจากเราเชื่อว่าการประกาศเพิ่มภาษีสินค้าจีนของทรัมป์ จะไม่หยุดอยู่แค่นี้ ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงขาดดุลการค้าอย่างมากกับจีน อนึ่ง ภาพระยะสั้นค่าเงินบาทมีแนวโน้มเหวี่ยงตัวตามการเคลื่อนไหวระหว่างวันของราคาทองคำในตลาดโลก และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ต่อไป
ส่วนปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดส่งออกเดือนต.ค. มูลค่า 2.72 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงสุดรอบ 19 เดือน และขยายตัว 14.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราเติบโตสูงสุดรอบ 3 เดือน โดยได้แรงหนุนจากสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่ทางการคาดว่าส่งออกทั้งปี 67 จะเพิ่มขึ้น 4% ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนต.ค. ที่ 0.7 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น ตามรายรับภาคท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน โดยต้องติดตามความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และนโยบายการค้าของสหรัฐฯ