ตามที่ คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ ขนาดน้ำหนักกดเพลา 20 ตันต่อเพลา จำนวน 113 คัน วงเงินงบประมาณ 23,730 ล้านบาท ดยหลังจากนี้ รฟท.จะสรุปรายละเอียดนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตามขั้นตอนต่อไป
แหล่งข่าว รฟท. คาดว่า ครม. จะอนุมัติภายในเดือนมิ.ย. 2568 ซึ่งในทางคู่ขนาน รฟท.ได้ดำเนินการเตรียมเอกสารประกวดราคาไปด้วย โดยจะมีการทำร่าง TOR และเปิดรับฟังวิจารณ์ร่าง TOR ช่วงมี.ค.68- ก.ย. 68, เปิดประกวดราคาช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 68 ,พิจารณาผลประกวดราคาและลงนามสัญญาในช่วงต.ค.68- ก.พ. 69 ใช้เวลาในการประกอบรถ จำนวน 113 คัน 66 เดือน ช่วง เดือนมี.ค. 69-ส.ค.74
ตามแผนงานจะแบ่งการส่งมอบรถเป็น 4 งวด งวดแรก จำนวน 23 คน ช่วงเดือนมี.ค.71-พ.ค.71, งวดที่ 2 จำนวน 30 คัน ช่วงเดือนก.ย. 71-พ.ย.71, งวดที่ 3 จำนวน 30 คัน ช่วงเดือนก.ย. 72 -พ.ย.72, งวดที่ 4 จำนวน 30 คัน ช่วงเดือนก.ย. 73 -พ.ย. 74
สำหรับการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า พร้อมอะไหล่ ขนาดน้ำหนักกดเพลา 20 ตันต่อเพลา จำนวน 113 คัน จะเป็นรถดีเซลไฟฟ้า (ไฮบริด) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมและพัฒนาระบบขนส่งที่ลดการใช้น้ำมัน โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเมินการสิ้นเปลืองน้ำมันรถจักรไฮบริดลดลง 20% เมื่อเทียบกับรถจักรดีเซล
ขณะที่ราคารถจักรไฮบริด (รวมอะไหล่) คันละ 210 ล้านบาท เปรียบเทียบรถจักรดีเซล (รวมค่าอะไหล่) คันละ 139 ล้านบาท เมื่อคิดการประหยัดน้ำมันของรถจักรไฮบริด เปรียบเทียบกับรถจักรดีเซลที่ใช้ในปัจจุบัน พบว่า ในปี 2571 จะลดค่าใช้จ่ายรายปีได้ 225.89 ล้านบาท หักผลต่างราคารถจักรดีเซลกับรถจักรไฮบริด (ค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่ และซ่อมบำรุง ปีที่ 6 และปีที่ 12) ผลตอบแทนของรถจักรไฮบริดจะเป็นบวกในปีที่ 10 จำนวน 106.69 ล้านบาท และในระยะเวลา 12 ปี หรือช่วงปี 2571 - 2582 จะสามารถประหยัดค่าน้ำมันได้รวม จำนวน 44,231 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ ขนาดน้ำหนักกดเพลา 20 ตันต่อเพลา จำนวน 113 คัน เป็นการดำเนินตามแผนวิสาหกิจ การรถไฟฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ และเพิ่มรายได้ของการรถไฟฯ ซึ่งปัจจุบัน รฟท. มีรถจักร (ไม่รวมรถจักรสับเปลี่ยน) จำนวน 187 คัน มีสภาพเก่าและอายุใช้งานมาก ทำให้มีภาระด้านงบประมาณ ในการซ่อมบำรุง เพื่อให้รถจักรมีสภาพพร้อมใช้งาน (Availability) และในปี 2576-2579 จะตัดหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าอัลสตรอม จำนวน 50 คันออก เนื่องจากมีอายุใช้งานเกินกว่า 50 ปี เหลือไว้ 10 คันที่มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ทำให้ หลังปี 2580 จะเหลือรถจักรใช้งานจำนวน 137 คัน
ขณะที่รฟท.มีความต้องการรถจักรเพื่อรองรับการให้บริการและเส้นทางรถไฟทางคู่ เพื่อให้บริการเดินรถเชิงพาณิชย์และรถสินค้า โดยตามแผนในปี 2567-2580 ต้องการรถจักร จำนวน 127 คัน และในปี 2580 ต้องการรถจักรเพิ่มเป็น 242 คัน หรือเพิ่มขึ้นอีก 115 คัน