นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "Thailand's Monetary and Financial Policy: Building Resiliency for an Uncertain World" นโยบายการเงินนำประเทศ รับมือบริบทโลกใหม่" ว่า การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้านั้น สิ่งที่โลกกำลังต้องเผชิญไม่ใช่ "ความเสี่ยง" (Risk) แต่เป็นเรื่องของ "ความไม่แน่นอน" (Uncertain) ซึ่งสามารถคาดเดาและบริหารจัดการได้ยากกว่าว่าจะมี Shock อะไรเกิดขึ้น
"ความไม่แน่นอน" ที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า มี 3 เรื่องสำคัญ คือ
1. การแยกตัวของการค้า (Geoeconomic fragmentation) เพิ่มขึ้น
2.นโยบายเศรษฐกิจประเทศหลัก โดยในช่วงโควิด-19 นโยบายไปในทิศทางเดียวกัน แต่หลังโควิด-19 นโยบายไปคนละทิศทาง และความเร็วที่ต่างกัน
3.Markets & pricing of risk จะเห็นว่าหุ้น NVIDIA มีมูลค่าถึง 3.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหุ้นเพียงตัวเดียวมีมูลค่าตลาดมากกว่าตลาดหุ้นในประเทศแคนนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน เป็นต้น ดังนั้น การคำนวณความเสี่ยงของตลาดจะมีมากพอหรือไม่ เป็นเรื่องต้องติดตาม เพราะโอกาสที่โลกจะมีความเสี่ยง และความไม่แน่นอนมีมากขึ้น
"ทั้ง 3 นโยบายนี้ จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น จากเดิมที่คาดว่าจะเข้ากรอบได้ ก็ทำได้ยากขึ้น ดังนั้น การทำนโยบายการเงินก็จะยากขึ้น" ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า หากดูผลข้างเคียงที่มีต่อไทย เช่น การนำเข้าของจีน จะเห็นว่าในปี 63-64 มาจากตลาดอาเซียนค่อนข้างสูง โดยเวียดนาม เป็นอันดับ 1 และไทย เป็นอันดับ 2
แต่สิ่งที่เห็น คือ การฉีกของการเติบโตระหว่างการบริโภคและการผลิต ซึ่งจากเดิมการบริโภคและการผลิตจะขยายตัวใกล้เคียงกัน โดยในปี 55-63 GDP ภาคการผลิตอยู่ที่ 1.6% และการบริโภคขยายตัว 1.8% ค่าเฉลี่ยความสัมพันธ์การผลิตและการบริโภคอยู่ที่ 0.79% แต่ปัจจุบัน ในปี 64 จนถึงไตรมาส 3/67 จะเห็นว่า GDP การผลิตอยู่ที่ 0.6% และการบริโภคอยู่ที่ 2.1% โดยค่าเฉลี่ยสัมพันธ์อยู่ที่ 0.05% เท่านั้น
* จ่อประกาศมาตรการแก้หนี้รายย่อย 11 ธ.ค.
สำหรับการดำเนินนโยบาย Resiliency ไม่ใช่แค่เสถียรภาพ แต่กว้างกว่านั้น คือ จะต้องมีความทนทาน ยืดหยุ่น ล้มแล้วลุกเร็ว ปรับตัว แต่ก็หนีไม่พ้นเรื่องของเสถียรภาพ ทั้งนี้ เศรษฐกิจจะ Resilient ได้ ต้องมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่
1.เสถียรภาพ (stability) โดยนโยบายการเงินจะต้องเป็นนโยบายที่แข็งแรง เหมาะสมกับทุกสถานการณ์ จะช่วยเรื่อง Resiliency ได้ดีกว่า เพราะไม่ได้ใช้นโยบายเพียงอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียว รวมถึงทำนโยบายโดยดูจาก Outlook Dependent มากกว่า Data Dependent เพราะจะมีปัจจัยรบกวนเข้ามา ซึ่งจะทำให้นโนบายขาดเสถียรภาพ
2.มีภูมิคุ้มกันทางการเงิน (buffer) และทางเลือกอื่น ๆ เช่น หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ธปท.ได้ออกมาตรการ Responsible Lending ออกมา และภายในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ จะมีการประกาศมาตรการแก้หนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติม
3.เติบโตจากโอกาสใหม่ (digital & transition) ธปท.ได้มีการวางรากฐานตามกระแสโลกใหม่ เช่น ระบบชำระเงินที่หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ธปท.ต้องการเชื่อมระบบการชำระเงินไปสู่การให้สินเชื่อด้วย โดยผ่านโครงการ Your Data หรือการเพิ่มธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ที่จะมีการประกาศรายชื่อกลางปี 568 และสามารถเริ่มดำเนินงานได้ภายในปี 69
"นโยบายการเงินที่ Resiliency สิ่งที่เราไม่อยากเห็น คือ การให้ Forward Guidance มากเกินไป โดยหากเงื่อนไขเปลี่ยนไป และนโยบายที่เหมาะสมเปลี่ยนไป เพราะเราไม่อยากเห็นนโยบายไปอีกทางหนึ่ง และต้องกลับลำ" นายเศรษฐพุฒิ ระบุ