น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบ "โครงการบ้านเพื่อคนไทย" พัฒนาที่อยู่อาศัยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน โดยนำที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถ มาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยภายใต้ชื่อ โครงการบ้านเพื่อคนไทย ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน และสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในมิติของที่อยู่อาศัยให้กับประเทศ
จากการสำรวจข้อมูลที่ดินที่มีศักยภาพของ รฟท.เพื่อนำมาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชน พบว่าที่ดินรอบพื้นที่สถานีรถไฟ หรือมีทำเลใกล้กับรางรถไฟ ซึ่งไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถมีอยู่ประมาณ 38,000 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมไปถึงกระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคทั่วทั้งประเทศ
การพิจารณาจะใช้เกณฑ์คัดเลือกพื้นที่ ประกอบด้วย 1. ที่ตั้งใกล้กับสถานีรถไฟ 2. อยู่ในจังหวัดหลักที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจหรือศูนย์กลางภูมิภาค 3. ตำแหน่งที่ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางชุมชน 4. ความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่ 5. ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน 6. ความเป็นไปได้ในการจองสิทธิ์โครงการ 7. ตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับมหาวิทยาลัยภูมิภาค 8. อัตราความหนาแน่นของประชากรรอบพื้นที่ และ 9. ราคาประเมินที่ดิน
จากเกณฑ์พัฒนาข้างต้น พบว่ามีพื้นที่มีศักยภาพ 112 พื้นที่ โดยได้ประเมินคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง 25 พื้นที่ รวมพื้นที่ประมาณ 700.14 ไร่ เพื่อศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินการโครงการเบื้องต้น โดยแบ่งการพัฒนาโครงการบ้านเพื่อคนไทยเป็น 3 ระยะ
1. ระยะเร่งด่วน (พ.ศ.2567-2568) โครงการบ้านเพื่อคนไทยสำหรับโครงการนำร่องแบ่งออกเป็น 2 ระยะ
- ระยะที่ 1 การดำเนินการโครงการอาคารชุด 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เชียงใหม่ พื้นที่เชียงราก พื้นที่บางซื่อ กม. 11
- ระยะที่ 2 การดำเนินการโครงการบ้านพัก 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เชียงใหม่ พื้นที่กาญจนบุรี และพื้นที่นครราชสีมา
2. ระยะสั้น (พ.ศ.2569-2571) โครงการบ้านเพื่อคนไทย สำหรับโครงการตามแผนงานเบื้องต้น จำนวน 22 โครงการ
3. ระยะกลาง (พ.ศ.2572-2576) โครงการบ้านเพื่อคนไทย สำหรับพื้นที่ที่มีศักยภาพ จำนวน 87 โครงการ
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการบ้านเพื่อคนไทยเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างครอบคลุมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมการเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแก่ประชาชน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาที่จะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส โดยรัฐบาลจะเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศอย่างไร้รอยต่อ รวมถึงจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ