ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ถึงราคาคาร์บอนเครดิต กับปัญหาของการพัฒนาตลาดคาร์บอนในประเทศไทย โดยพบว่า รูปแบบตลาดคาร์บอนของประเทศไทย มีลักษณะเป็นกลไกภาคสมัครใจ ส่งผลให้ผู้ซื้อขาดแรงจูงใจในการซื้อ ทำให้การพึ่งความต้องการ (Demand) คาร์บอนเครดิตในปริมาณมากจนกดดันให้ราคาขึ้นสูงนั้น จะเกิดขึ้นได้น้อย
นอกจากนี้ จากผลสำรวจพบว่ามีเพียง 20-25% ของผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้น ที่สามารถตกลงราคาที่ยินดีซื้อและยินดีขายได้ตรงกัน ที่ราคาระหว่าง 51-200 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับตลาดภาคบังคับในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี หลายโครงการสามารถขายได้ในราคาสูงใกล้เคียงตลาดต่างประเทศ เนื่องจากสามารถสร้างคุณค่า เช่น ผลประโยชน์ร่วมของโครงการต่อชุมชน (Co-benefit) หรือตอบโจทย์ของผู้ซื้อโดยตรง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้พัฒนาต้องพิจารณา
ปัจจุบัน ผลสำรวจพบความสอดคล้องระหว่างราคายินดีซื้อ และราคายินดีขายที่ค่อนข้างต่ำ เพียง 20-25% ที่ผู้ซื้ออยากซื้อคาร์บอนเครดิตในราคาที่ตรงกับผู้ขายต้องการ
- กลไกภาคสมัครใจ
ด้วยรูปแบบตลาดคาร์บอนของประเทศไทย มีลักษณะเป็นกลไกภาคสมัครใจ ทำให้ผู้ซื้อมีเหตุผลที่จะซื้อต่ำ นอกจากทำเพื่อ CSR หรือ เป็นนโยบายภายในเท่านั้น คาร์บอนเครดิตที่ซื้อขายกันส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จึงมีราคาซื้อขายค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับตลาดที่เป็นภาคบังคับ
- ประเภทโครงการ
คาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการประเภทดูดกลับ GHG มักมีราคาสูงกว่า โดยเฉพาะโครงการที่สร้างผลประโยชน์ร่วมแก่สังคม (Co-Benefits) เช่น ป่าไม้ การจัดการขยะมูลฝอย เป็นต้น ซึ่งผู้ซื้ออาจให้คุณค่า และทำให้ผู้ขายสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากคาร์บอนเครดิตได้
ผู้ขายไม่สามารถพึ่งพาความต้องการ (Demand) คาร์บอนเครดิตปริมาณมากจนกดดันให้ราคาขึ้นสูงได้ เนื่องจากการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยปัจจุบัน อยู่ในรูปแบบสมัครใจ ดังนั้น หากผู้พัฒนาโครงการอยากขายคาร์บอนเครดิตให้ได้ราคาที่สูงขึ้น อาจพิจารณาใช้ปัจจัยเหล่านี้ เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งอาจสรุปเป็นหัวข้อได้ดังนี้
1. ผลประโยชน์ร่วมของโครงการต่อชุมชน (Co-Benefit) :
ผู้พัฒนาโครงการอาจเลือกพัฒนาโครงการที่ผู้ซื้อให้ความสนใจ และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ชุมชน เช่น ป่าไม้ การทำปุ๋ยหมัก การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอย ซึ่งปัจจุบันโครงการประเภทดังกล่าว ก็มีราคาซื้อขายที่ราคาสูง
2. ช่วงเวลาของคาร์บอนเครดิตที่ได้รับรอง (Crediting Period) :
ปัจจุบันคาร์บอนเครดิตไม่มีอายุการใช้งาน ทำให้เกิดการบิดเบือนตลาด (Market Distortion) จาก 2 กรณี ได้แก่ (1) คนซื้อเลือกซื้อตุนเฉพาะที่ราคาถูก และ (2) ผู้ขายไม่ยอมนำคาร์บอนเครดิตมาขาย เพราะหวังให้ราคาสูงขึ้นจนปริมาณ supply ล้นตลาด
แต่ในอนาคต จะมีข้อกำหนดการใช้คาร์บอนเครดิตชดเชยในบางมาตรการ ที่อนุญาตใช้คาร์บอนเครดิตรุ่นใหม่เท่านั้น เช่น CORSIA เป็นต้น ดังนั้น การซื้อตุน หรือการสต็อกคาร์บอนเครดิตไว้ชดเชย หรือขายในอนาคตจะทำได้ยาก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการซื้อขายเครดิตรุ่นปัจจุบันมากขึ้น
3. ประเภทโครงการที่เป็นที่ต้องการ :
การพัฒนาโครงการในประเภทที่ยังขาดแคลนส่งผลให้ราคาซื้อขายสูงขึ้นได้ตามหลักการ Demand-Supply เช่น โครงการประเภทดักจับ หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก โดยใช้เทคโนโลยี เช่น Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS), Direct Air Capture (DAC) ซึ่งมีราคาสูงใกล้เคียงกับมาตรฐานอื่นในระดับโลก ตามความต้องการในหน่วยงานที่ตั้งเป้าหมาย Net Zero แต่ไม่สามารถลดการใช้ GHG เองได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นอกเหนือจากการดำเนินการของผู้พัฒนาโครงการ ภาครัฐ และหน่วยงานสนับสนุน จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันให้ราคาคาร์บอนเครดิตสูงขึ้นได้อีก โดยอาจพิจารณานำกลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคบังคับมาใช้ เช่น ภาษีคาร์บอน ในรูปแบบที่อนุญาตให้สามารถใช้คาร์บอนเครดิตไปชดเชยได้ในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่าน จะช่วยกระตุ้นตลาดคาร์บอนเครดิต และผลักดันราคาคาร์บอนในประเทศด้วยอีกทางหนึ่ง