นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เผยถึงสถานการณ์หีบอ้อย ฤดูการผลิตปี 2567/68 ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคอีสาน ว่า ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เห็นชอบให้วันที่ 6 ธันวาคม 2567 เป็นวันแรกของการเปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลในภาคตะวันออกและภาคอีสาน ซึ่งตนได้รับรายงานสถานการณ์อ้อยเข้าหีบจากเจ้าหน้าที่ สอน. ประจำโรงงาน พบว่า ขณะนี้ภาคอีสานมีโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยแล้ว 17 โรงงาน ภาพรวมหีบอ้อยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สัดส่วนอ้อยลักลอบเผายังอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 10%
แต่ยังมี 3 โรงงานมีอ้อยลักลอบเผาอยู่ในระดับที่เกินกว่า 25% ได้แก่ บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จังหวัดกาฬสินธุ์ บริษัท สหเรือง จำกัด จังหวัดมุกดาหาร และบริษัท น้ำตาลระยอง จำกัด จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีปริมาณอ้อยลักลอบเผา 43.59% 43.24% และ 31.3% ตามลำดับ จึงขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล รณรงค์การเก็บเกี่ยวอ้อยสด และป้องกันการลักลอบเผาอ้อยในพื้นที่อย่างเข้มงวด
ทั้งนี้ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีมติเห็นชอบมาตรการป้องปรามการลักลอบเผาอ้อย โดยกำหนดให้หักเงินชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยถูกลักลอบเผาในแต่ละวันเป็นรายโรงงาน จากเดิมถูกหักเงินจำนวน 30 บาท/ตันอ้อย เป็นถูกหักเงิน 30 - 130 บาท/ตันอ้อย
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาลประมาณ 7,000 ล้านบาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับใบและยอดอ้อย ซึ่งจะทำให้ชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 120 บาท/ตันอ้อย และขอความร่วมมือให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยผลิตและนำส่งอ้อยสดคุณภาพดี และให้โรงงานน้ำตาลรักษาประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลให้ได้ปริมาณน้ำตาลตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรรม" ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและสร้างอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
"ผมพร้อมที่จะสนับสนุนและดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% ผ่านกลไกการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับใบและยอดอ้อย ซึ่งจะเพิ่มรายได้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยอีกทางหนึ่ง และจะเร่งรัดระเบียบที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับใช้ในฤดูการผลิตนี้ คาดว่าจะช่วยลดการลักลอบเผาอ้อย ลด PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป" นายใบน้อยฯ กล่าวทิ้งท้าย