BAY คาดกรอบบาทสัปดาห์นี้ 33.75-34.35 จับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯ-ประชุม ECB

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 9, 2024 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.75-34.35 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.08 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 33.95-34.57 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์แข็งค่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ข้อมูลภาคบริการเดือนพ.ย.ของสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งมากกว่าที่คาดไว้ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่เฟดเริ่มต้นวัฎจักรดอกเบี้ยขาลง พร้อมส่งสัญญาณถึงการลดดอกเบี้ยอย่างระมัดระวังในระยะถัดไป

ส่วนเงินยูโรฟื้นตัวขึ้นช่วงสั้น ๆ โดยตลาดพันธบัตรฝรั่งเศสกลับเข้าสู่เสถียรภาพ หลังจากสภาฝรั่งเศสโหวตไม่ไว้วางใจนายกฯ ขณะที่ค่าเงินเยน ผันผวนจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจังหวะเวลาที่ตลาดประเมินว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 1,357 ล้านบาท แต่มียอดซื้อพันธบัตรสุทธิ 7,080 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ ตลาดจะติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพ.ย.ของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญชิ้นสุดท้ายก่อนการประชุมเฟดวันที่ 17-18 ธ.ค. เรามองว่าแม้ตำแหน่งการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ย.ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกินคาด แต่ปฏิกิริยาของตลาดสะท้อนว่าไม่เพียงพอที่จะทำให้เฟดเลื่อนการลดดอกเบี้ยในเดือนนี้ออกไป โดยอัตราการว่างงานขยับสูงขึ้นมาที่ 4.2% และอาจค่อย ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เฟดหลายราย ให้ความเห็นว่าดอกเบี้ยจะลดลงต่อเนื่องจากระดับตึงตัว แต่ยังคงแสดงท่าทีระมัดระวัง โดยสัญญาล่วงหน้าบ่งชี้โอกาส 85% ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้

นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะมีมติลดอัตราดอกเบี้ยลง 25bp สู่ 3.00% ในการประชุมวันที่ 12 ธ.ค. โดยนักลงทุนจะรอดูสัญญาณจากอีซีบีเรื่องความเป็นไปได้ในการปรับลดดอกเบี้ยขนาด 50bp ต่อรอบประชุมในระยะข้างหน้า ท่ามกลางความเสี่ยงด้านขาลงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในยูโรโซน จากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนทางการเมืองในฝรั่งเศส

สำหรับปัจจัยในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนพ.ย.ของไทย เพิ่มขึ้น 0.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนพลังงาน และอาหาร ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เพิ่มขึ้น 0.80% โดยกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 และปี 2568 ที่ 0.5% และ 0.8% ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ