นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในงานการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น "การเพิ่มสิทธิประโยชน์เมื่อปรับเพดานค่าจ้าง" ว่า กองทุนประกันสังคม จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทุนใช้จ่ายสำหรับให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทน ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นเวลา 34 ปีแล้ว ที่กองทุนประกันสังคมอยู่เคียงข้างผู้ประกันตน เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ในปัจจุบันมีผู้ได้รับบำนาญจากสำนักงานประกันสังคม จำนวน 792,149 คน ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญตลอดชีวิต
ทั้งนี้ การจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ได้กำหนดเพดานค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 และไม่เคยมีการแก้ไขถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 34 ปี สำนักงานประกันสังคม ได้ตระหนักถึงความเพียงพอและความมั่นคงของสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตน
จึงได้ดำเนินการ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น "การเพิ่มสิทธิประโยชน์เมื่อปรับเพดานค่าจ้าง" ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาองค์การนายจ้าง-องค์การลูกจ้าง ผู้แทนจากพรรคการเมือง นายจ้าง และลูกจ้างทั่วไป ผู้แทนสื่อมวลชน ถึงการปรับเพดานค่าจ้างในรูปแบบขั้นบันได 3 ครั้ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อนายจ้างและผู้ประกันตน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ในปี 2569 - 2571 ปรับเป็น 17,500 บาท
- ในปี 2572 - 2574 ปรับเป็น 20,000 บาท
- ขั้นสุดท้าย ในปี 2575 เป็นต้นไป ปรับเป็น 23,000 บาท
ด้าน นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม ได้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ ที่ไม่ได้อิงกับฐานเพดานค่าจ้าง ให้แก่ผู้ประกันตนตลอดมา เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เช่น กรณีคลอดบุตร ในปี 2538 ได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงินจำนวน 4,000 บาท/ครั้ง ในปัจจุบันเพิ่มเป็นเงินจำนวน 15,000 บาท/ครั้ง เงินสงเคราะห์บุตร ในปี 2541 ได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงินจำนวน 150 บาท/เดือน/บุตร 1 คน สูงสุด 2 คน ในปัจจุบันเพิ่มเป็น 800 บาท/เดือน/บุตร 1 คน สูงสุด 3 คน และในกรณีเสียชีวิต เงินค่าทำศพ ในปี 2538 จ่ายเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ปัจจุบันเงินเพิ่มเป็นค่าทำศพ 50,000 บาท เป็นต้น
ส่วนสิทธิประโยชน์ที่อิงกับฐานเพดานค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีว่างงาน เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต และเงินบำเหน็จ-บำนาญชราภาพ เมื่อไม่มีการปรับฐานเพดานค่าจ้าง ทำให้ผู้ที่มีค่าจ้างมากกว่า 15,000 บาท ถูกจำกัดสิทธิประโยชน์ไว้ และไม่สอดคล้องกับค่าจ้างจริงในปัจจุบัน
ดังนั้น จึงสมควรปรับปรุงฐานเพดานค่าจ้างให้เหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ อันเป็นที่มาของการประชุมรับฟังความคิดในวันนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ประกันตนต่อไปในอนาคต