ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มีมุมมองว่า "อาหาร" ถือเป็นหนึ่งใน Soft power และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงในการสร้างโอกาสการเติบโต และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับไทย นอกจากอาหารไทยจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลกมาอย่างยาวนานแล้ว ประเทศไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งทั้งความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายของวัตถุดิบ มาตรฐานการผลิต ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งยังมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่แข็งแกร่งและครบวงจรอีกด้วย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนที่ดีในการสนับสนุนและต่อยอดการขับเคลื่อนและส่งออก Soft power ด้านอาหารของไทย
ทั้งนี้ กลไกในการผลักดันยุทธศาสตร์ Soft power ด้านอาหาร สามารถทำได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่น่าสนใจและมีเอกลักษณ์ ผ่านสื่อบันเทิงต่าง ๆ เช่น ละคร ซีรีส์ ภาพยนตร์ รวมทั้งการเผยแพร่ผ่านผลงานศิลปะและดนตรี หรือแม้แต่การโปรโมตการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy tourism) เพื่อสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ที่เชื่อมโยงเข้ากับประเพณี วิถีวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น และกระจายรายได้สู่ชุมชน
โดยนอกจากจะส่งผลดีต่อผู้เล่นที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ยังทำให้ภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย ซึ่งกลไกการผลักดันเหล่านี้ เป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
SCB EIC มองว่า การผลักดัน Soft power ด้านอาหาร จะมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคการผลิตและภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์ ร้านอาหาร โรงเรียนสอนทำอาหาร ร้านของฝากและของที่ระลึก หรือแม้แต่การท่องเที่ยวเชิงอาหาร และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญ คือการสร้างมาตรฐานและกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่มีความสอดคล้องและมีทิศทางเดียวกันทั้ง Ecosystem รวมถึงการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อตอกย้ำภาพจำที่เด่นชัดกับผู้บริโภคในตลาดโลก