นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศว่า ค่าแรงขั้นต่ำมีประมาณเกือบ 10 ล้านคน ทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าว โดยภาระการขึ้นค่าแรงส่วนมาจะตกที่ SME และภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น ดังนั้น ถ้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพร้อมกันทั่วประเทศ และแบบกระชาก ธุรกิจรับไม่ได้แน่นอน เพราะจะทำให้ธุรกิจมีกำไรน้อย และจะกลับไปเป็น NPL อีกครั้ง
นอกจากนี้ ถ้าปรับค่าแรงเท่ากันทั้งประเทศ จะเกิดการขาดแคลนแรงงานได้ทันทีในบางพื้นที่ที่มีค่าแรงเท่ากับจังหวัดอื่น และมีค่าครองชีพสูงกว่า ดังนั้น อาจจะทำให้เกิดการดึงแรงงานจากจังหวัดที่ไม่คึกคัก มาทำงานในจังหวัดที่คึกคัก อาจต้องจ่ายค่าแรงมากกว่า 400 บาท
ดังนั้น ภาคเอกชนเสนอว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรเท่ากันทั้งประเทศ และควรเป็นไปตามกลไกไตรภาคีจังหวัด และที่สำคัญถ้าต้องการผลักให้แรงงานมีค่าแรงสูงกว่า 400 บาท ควรจะมีการยกระดับการสอบเทียบมาตรฐานแรงงาน และกำหนดมาตรฐานแรงงาน เช่น คนที่ทำงานรับเหมาก่อสร้าง ถ้ามีทักษะแรงงานเมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ เวลาเอกชนจ่ายค่าจ้างจะรู้สึกว่าคล่องตัว และได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า
"ในเบื้องต้นมุมมองของฝั่งวิชาการ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรสอดคล้องกับไตรภาคีจังหวัด ควรสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด และควรคำนึงถึงกำลังจ่ายของผู้ประกอบการ เพราะนโยบายค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายเดียวของรัฐบาลที่ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินเลย ใช้เงินของเอกชนล้วนในการจ่าย และเป็นนโยบายที่เมื่อกำหนดค่าแรงขั้นต่ำกลายเป็นกฏหมายอาญา มีโทษทางกฏหมาย แต่ไม่ได้ใช้เงินภาษีประชาชน และไม่ได้เงินของรัฐบาล ดังนั้น การที่มีไตรภาคีคือการฟังเสียงของผู้จ่าย ไม่ใช่รัฐบาลจ่าย จึงต้องฟัง แต่ส่วนหนึ่งที่เอกชนเสนอว่า ถ้ารัฐบาลจะนำเงินงบประมาณแผ่นดินมาจ่ายส่วนต่าง เอกชนก็คงไม่ได้ว่าอะไร ข้อเรียกร้องของกกร. จึงบอกว่าควรมีมาตรการมาชดเชย ดังนั้น ถ้าที่รัฐบาลเคยคิดว่าจะไปให้หักภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เป็นค่าลดหย่อนก็สามารถทำได้ หรือลดการส่งเงินประกันสังคมแทนเอกชน" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงเป็นเรื่องที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยสุทธิ แต่ถ้าขึ้นมากไปจะกลายเป็นภาระ เพราะเอกชนจะต้องผลักต้นทุน โดยหอการค้าไทย ประเมินว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ ต้นทุนทางเศรษฐกิจจะเพิ่มประมาณ 6.8% และผลักภาระไป 100% จะทำให้เงินเฟ้อบวกขึ้นอย่างน้อย 3-4% อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเอกชนจะผลักภาระไปไม่มาก ประมาณ 20-40% ซึ่งก็อาจดันเงินเฟ้อให้บวกขึ้นประมาณ 1%
"ดังนั้น เงินเฟ้อปี 68 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1-1.5% ถ้าขึ้นค่าแรงเอกชนผลักภาระไปอีก 1% เงินเฟ้อก็จะอยู่ที่ 2% ตามนโยบายของรมว.คลัง ซึ่งเอกชนอยากให้ปรับไปตามกลไก ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่ภาคเอกชนต้องรับภาระ ถ้าขึ้นค่าแรงพร้อมกันเท่าประเทศ" นายธนวรรธน์ กล่าว
ด้าน นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ถ้าปรับ 400 บาทเท่ากันหมด ในบางธุรกิจจะมีต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่บางพื้นที่ค่าแรงเกิน 400 บาทไปแล้ว จึงจะเป็นการเหลื่อมล้ำเรื่องต้นทุน ทำให้ภาคเอกชนไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ดี การขึ้นค่าแรง 400 บาท ดีกับแรงงานที่จะมีโอกาสในการจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น แต่ในภาพรวมต้องดูผลดี และผลเสียที่จะส่งผลกระทบว่าจะมีผลด้านใดมากกว่ากัน แต่แน่นอนว่าการปรับขึ้น 400 บาท ของจะแพงขึ้นโดยอัตโนมัติ ดังนั้น อยากให้รัฐบาลมองระยะยาว และปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า