ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มีมุมมองว่า จังหวัดภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตดีจากรายได้ผู้เยี่ยมเยือนที่ขยายตัวสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 และดีกว่าภาพรวมทั้งประเทศ โดยเป็นผลจากกำลังการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก แม้จำนวนนักท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว อีกทั้งเศรษฐกิจภูเก็ตยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในปี 68 จึงทำให้ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวภูเก็ต มีทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในยุคหลังโควิด-19 ทั้งเทรนด์การท่องเที่ยวและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนี้
1. ภูเก็ตกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาต่อเนื่องตลอดทั้งปี ตามกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางสัญชาติมากขึ้นกว่าเดิม จากที่เคยรับนักท่องเที่ยวจีนและยุโรปเป็นหลักและส่วนใหญ่จะเดินทางเข้ามาในช่วง High season ตั้งแต่พ.ย.-ก.พ. ของทุกปี โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพที่เข้ามาใหม่อย่างอินเดีย คาซัคสถาน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และอิสราเอลเป็นนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางเข้ามาในช่วงก.ค.-ต.ค. ซึ่งมาเสริมรายได้ให้ภาคท่องเที่ยวภูเก็ตในช่วง Low season ได้มากขึ้น
2. ความหลากหลายของพฤติกรรมการท่องเที่ยวตามเทรนด์การท่องเที่ยวของแต่ละสัญชาติ โดยนักท่องเที่ยวเริ่มเข้าพักในย่านเมืองเก่ามากขึ้นจากเดิมที่เน้นพักผ่อนอยู่ริมหาดตลอดทั้งทริป และแต่ละพื้นที่จะมีฐานนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่แตกต่างกัน เช่น นักท่องเที่ยวอินเดียกว่า 64% จะเข้าพักในพื้นที่ป่าตองด้วยไลฟ์สไตล์ที่ชอบความบันเทิงและ Nightlife ขณะที่นักท่องเที่ยวรัสเซียและคาซัคสถานที่ส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาพำนักในไทยเป็นระยะเวลานาน มักเลือกพักในพื้นที่กะรนที่เงียบและสงบกว่า เป็นต้น
3. นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาภูเก็ตเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูงมากขึ้น จากภาพรวมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากนักท่องเที่ยวจีนกลุ่ม FIT ที่มีสัดส่วนมากขึ้นแทนกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ใหญ่ราคาประหยัด รวมถึงการเข้ามาของกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพใหม่ ที่ใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวสูงอย่างนักท่องเที่ยวรัสเซีย อิสราเอล คาซัคสถาน และตะวันออกกลาง จึงทำให้ภูเก็ตกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มไลฟ์สไตล์หรู ตามกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวที่เข้ามา
ขณะเดียวกัน ในระยะข้างหน้า ภูเก็ตกำลังมุ่งพัฒนาใน 2 ด้านหลัก คือ
1. โครงสร้างพื้นฐาน โดยภูเก็ตมีแผนในการพัฒนาสนามบินทั้งการขยายสนามบินเดิม และการสร้างสนามบินใหม่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังมีแผนพัฒนาระบบคมนาคมภายในจังหวัด ให้มีความสะดวกและแก้ไขปัญหาการจราจร พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว
2. ความยั่งยืน ภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องที่อยู่ในโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยธุรกิจท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญเนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตพึ่งพาภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ปัจจุบันโรงแรมและที่พักในภูเก็ตที่ได้รับสัญลักษณ์ความยั่งยืนมีเพียง 4% ของโรงแรมในภูเก็ตทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ภูเก็ตยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง การจัดการกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น การเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ทันกับการเติบโต การขาดแคลนแรงงานทักษะด้านบริการ การเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีของจังหวัดที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งสร้างความท้าทายต่อการวางแผนพัฒนา
นอกจากนี้ การเติบโตของภาคท่องเที่ยวภูเก็ตนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนภาคเอกชน โดยธุรกิจด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น จากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ ที่เล็งเห็นโอกาสในการเติบโตเข้ามาลงทุนในพื้นที่ภูเก็ตมากขึ้น
ดังนั้น การนำเสนอสินค้าและบริการที่โดดเด่น และสามารถตอบโจทย์ความหลากหลายที่เข้ามาจะสร้างความได้เปรียบในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นได้ ซึ่งรวมถึงการยกระดับสินค้าหรือบริการให้นักท่องเที่ยวรับรู้ถึงความคุ้มค่าของบริการและการใช้จ่ายแม้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูงก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น การขยายตัวของเศรษฐกิจภูเก็ตยังสร้างโอกาสการเติบโตให้กับหลายธุรกิจในภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง โรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาลเอกชน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้เติบโตไปพร้อมกับภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย
ทั้งนี้ การพัฒนาการท่องเที่ยวภูเก็ตอย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยบทบาทภาครัฐเป็นกำลังสำคัญ ได้แก่
1. การยกระดับภาคการท่องเที่ยวสู่โซนท่องเที่ยวอันดามัน ให้ครอบคลุมพื้นที่ในหลายจังหวัดอันดามัน ทั้งพังงาและกระบี่ จะช่วยลดความแออัดของภูเก็ต ลดผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมทั้งกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียงให้มากขึ้น
2. การวางทิศทางด้านการท่องเที่ยวที่ชัดเจน ที่จะช่วยให้ภาพรวมการพัฒนาทั้งจังหวัดเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน และยังสามารถสร้างจุดแข็งให้กับจังหวัดในการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายได้ตรงจุดมากขึ้นอีกด้วย
3. การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านคมนาคมและสาธารณูปโภคให้ครบวงจรและเชื่อมต่อพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเป็นระบบ จะช่วยรองรับการเติบโตของภาคท่องเที่ยวและการพัฒนาด้านความยั่งยืนของภูเก็ตได้เป็นอย่างดี