นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 68 คาดว่า จะขยายตัวราว 3% ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า GDP จะขยายตัว 2.9% โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 68 ยังมีแรงส่งจากปัจจัยต่าง ๆ จากไตรมาส 4/67 อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งหลังปี 68 ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ รวมทั้งความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์
ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ประมาณ 2.7% โดยไตรมาส 4/67 จีดีพีจะขยายตัวได้ 4% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการขยายตัวของการส่งออก ทั้งนี้ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 68 จะมีปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่
- การส่งออกสินค้าซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของจีดีพี โดยการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เท่ากับเกือบ 10% ของจีดีพี จะมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโอกาสที่มีผลกระทบทางลบหรือความเสียหาย (downside risk) มาก และตลาดยุโรปกับจีนก็ดูจะไม่แข็งแรง นอกจากนี้การส่งออกสินค้าไทยประมาณ 40% ส่งออกไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว นั่นคือยุโรปแล้วอเมริกาเหนือ ซึ่งคาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปในปี 68 น่าจะยังไม่ค่อยดี ขณะที่ตลาดสหรัฐอัพไซด์คงไม่เปิด และหลังจากความเสี่ยงด้านนโยบายกำแพงภาษีของทรัมป์ ผู้นำเข้าจะเร่งตุนสินค้า ดังนั้นตัวเลขฐานในไตรมาสนี้ที่ส่งออกไปสหรัฐน่าจะสูงเป็นพิเศษ
- การท่องเที่ยวคงจะฟื้นตัวต่อไป คือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2568 น่าจะกลับไปที่ 40 ล้านคน เท่ากับปริมาณก่อนการระบาดของโควิด 19 แต่รายจ่ายต่อหัวจะยังต่ำกว่า
- แรงกระตุ้นจากภาครัฐคงจะมีต่อเนื่องถึงประมาณกลางปีหน้า จากการแจกเงินก้อนสุดท้าย และการเร่งใช้งบลงทุน แต่การที่รัฐมนตรีคลังพูดถึงการเก็บภาษีเพิ่ม แปลว่า นโยบายการคลังน่าจะตึงตัวขึ้น
- นโยบายการเงินนั้น ตลาดคาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปี 2568 เพราะเงินเฟ้อต่ำมาก แต่ในขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงจะส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ และธนาคารพาณิชย์เองคงจะต้องใช้เวลากับการแก้หนี้เสียที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่น้อย ดังนั้น แนวโน้มของการลดลงของสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ (debt deleveraging) ก็จะยังดำเนินต่อไปในปี 2568
อย่างไรก็ตาม หากธปท. ผ่อนคลายนโยบายการเงินเชื่องช้าเกินไป ผลที่จะตามมาคือ กำลังซื้อในประเทศจะไม่แข็งแรงและเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปอีกได้ ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีหลังปี 2568 รัฐบาลน่าจะต้องควบคุมการขาดดุลการคลัง ส่งผลให้โมเมนตัมของการกระตุ้นด้วยนโยบายการคลังน้อยลง ดังนั้นนโยบายการเงินจะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญแทน
"ความเห็นผม เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างกระท่อนกระแท่นมาก และนโยบายการเงินตึงตัวเกินไป แต่ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เขาไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าเวลาผ่านไปอีกสักกลางปีหน้า คงจะจำนนด้วยหลักฐานทางเศรษฐกิจว่าต้องลดดอกเบี้ยลง และนักวิเคราะห์หลายคนก็หวังว่าจะไปเจอกันที่ 1.50%"