ธปท.รับ GDP ปี 68 เสี่ยงโตไม่ถึง 2.9% จากความไม่แน่นอนรอบด้าน แต่ยันไม่เห็นสัญญาณเงินฝืด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 18, 2024 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธปท.รับ GDP ปี 68 เสี่ยงโตไม่ถึง 2.9% จากความไม่แน่นอนรอบด้าน แต่ยันไม่เห็นสัญญาณเงินฝืด

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 68 ที่ล่าสุด กนง.ประเมินว่า จะขยายตัวได้ 2.9% ซึ่งปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนต.ค.ที่ 3% เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจในปีหน้ามีมากขึ้นจากความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทำให้เห็นโอกาสที่เศรษฐกิจไทยอาจจะโตไม่ถึงตัวเลขที่เคยประมาณการไว้ และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเติบโตได้ต่ำกว่า 2.9% ซึ่ง กนง.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

แต่อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปีนี้มีโอกาสจะขยายตัวได้ถึง 4%

"ตอนนี้ ในแง่ความเสี่ยงเศรษฐกิจปีหน้ามีกว้างขึ้น จากความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น โอกาสที่จะลดลงมีเยอะขึ้น จึงมีความเสี่ยงไปทางด้านที่จะต่ำกว่า 2.9% แต่ในระยะสั้นมองว่าโมเมนตัมยังพอไปได้" นายสักกะภพ กล่าว

สำหรับปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงมีทั้งการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศหลัก ทั้งการกู้เงินเพิ่ม การกีดกันทางการค้า ซึ่งอาจจะมีตัวแปรต่าง ๆ ที่มากระทบกับไทย

"เช่น เศรษฐกิจโลกคงไม่ได้ลงเร็ว ทำให้ดอกเบี้ยโลกอาจค้างอยู่สูงนานกว่าที่เราคาด เหล่านี้มีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงิน แม้ไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่เป็นปัจจัยที่เราต้องคำนึงถึงในการกำหนดนโยบายของไทย ที่เป็นประเทศขนาดเล็ก และเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิด" เลขานุการ กนง. ระบุ

* จำเป็นต้องรักษา Policy Space เหตุความไม่แน่นอนยังสูง

นายสักกะภพ กล่าวด้วยว่า จากมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบนี้ จะเห็นว่าให้ความสำคัญกับการรักษา Policy Space เนื่องจากเห็นว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งการทำนโยบายในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูงนั้น ประสิทธิผลของนโยบายอาจมีค่อนข้างจำกัด ดังนั้น กนง.จึงขอติดตามพัฒนาการในแง่เศรษฐกิจ การเงิน เพื่อจะดำเนินนโยบายการเงินให้มีความเหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ กนง.เห็นในระยะสั้นนี้ คือ ภาพของเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะการส่งออกในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งข้อมูลจริงออกมาดีกว่าที่คาด และยังน่าจะดีต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 4 ปีนี้ และไตรมาส 1 ของปี 68

"ตอนนี้ ดอกเบี้ยยังเป็น Neutral แต่หากเราเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะทำให้ stance ของนโยบายการเงินเปลี่ยนไป ก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน...เราต้องดูปัจจัยที่เข้ามากระทบ และผลกระทบเป็นอย่างไรบ้าง จากอะไรบ้าง และขยายผลไปในวงกว้างขนาดไหน ต้องแยกแยะด้วยว่า ประสิทธิภาพของดอกเบี้ยมีความสามารถขนาดไหน" นายสักกะภพ ระบุ

*แม้เงินเฟ้อต่ำแต่ยังไม่เห็นสัญญาณเงินฝืด

นายสักกะภพ กล่าวด้วยว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0.4% ลดลงจากเดิมที่ 0.5% และในปี 68 อยู่ที่ 1.1% จากเดิม 1.2% แม้จะอยู่ในระดับต่ำแต่ก็ใกล้เคียงกับกรอบล่าง และยังไม่เห็นสัญญาณที่จะเกิดภาวะเงินฝืด เนื่องจากราคาสินค้าในตะกร้าคำนวณเงินเฟ้อ 3 ใน 4 ยังปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ก็ยังอยู่ในระดับที่ทรงตัวและยึดเหนี่ยวในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%

นอกจากนี้ ในที่ประชุม กนง.ยังได้พูดคุยกันถึงการชะลอตัวของสินเชื่อ ซึ่งมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.ความต้องการลงทุนในบางภาคธุรกิจลดลง 2.การชำระหนี้คืนหลังมีรายได้ทยอยเข้ามา โดยเฉพาะในภาคบริการและท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดี ทำให้การพึ่งพิงสินเชื่อน้อยลง และ 3.ความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มสูงขึ้น เช่น ภาคการผลิต การใช้สินเชื่อต่อรายได้ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ทำให้การใช้สินเชื่อยากขึ้น หรือ SME ที่มีความเสี่ยงสูง

ทั้งนี้ กนง.เห็นความแตกต่างของการฟื้นตัวของแต่ละภาคอุตสาหกรรมและรายได้ เช่น ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่มีปัจจัยด้านราคาและอุปสงค์เข้ามากระทบ ส่งผลต่อรายได้ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นคือราคาขายรถมือ 2 กับยอดขายรถใหม่ไปด้วยกัน มีการปรับขึ้นและลงเป็นวัฎจักร ซึ่งในปี 64 หลังออกมาตรการช่วยเหลือโควิด-19 และภาครัฐมีการกำหนดเพดานดอกเบี้ย เริ่มเห็นสัญญาณหนี้เสียเพิ่มขึ้น ทำให้ราคารถมือ 2 ในไตรมาสที่ 1/65 ปรับลดลง ส่งผลต่อยอดขายรถใหม่ รวมถึงมีปัจจัยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เข้ามา ดังนั้นจึงเริ่มเห็นผลกระทบต่อยอดสินเชื่อเริ่มชะลอลงในไตรมาส 1/67

"มองไปข้างหน้า เรายังติดตามราคารถว่าจะมีความเสถียรภาพเมื่อไร ซึ่งจะทำให้ยอดขายและสินเชื่อกลับมา โดยล่าสุด เราเห็นผู้ประกอบการว่าราคาเริ่มมีสัญญาณกลับมา ซึ่งเราต้องติดตามต่อเนื่อง เพราะจะมีผลเกี่ยวเนื่องไปยังอุตสาหกรรมอื่น เช่น ชิ้นส่วน เป็นต้น" นายสักกะภพ ระบุ

* เสถียรภาพระบบการเงินระยะยาว ไม่มีสัญญาณความเสี่ยงเพิ่ม

นายสักกะภพ ยังกล่าวถึงเสถียรภาพระบบการเงินของไทยว่า ในระยะยาว ความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน เพราะเริ่มมองเห็นแนวโน้มการชะลอตัวของหนี้ครัวเรือน ส่วนในระยะสั้นจากภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวและปัญหาทางการเงินต่าง ๆ นั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบก่อน (16 ต.ค.) ก็เริ่มมีผล รวมทั้งล่าสุดที่มีมาตรการแก้หนี้รายย่อยก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูงได้

"ระยะยาว เราเห็นการชะลอตัวของหนี้ครัวเรือน ดังนั้นความเสี่ยงระยะยาวของเสถียรภาพระบบการเงิน ไม่ได้เป็นประเด็น และลดลง แต่ระยะสั้น จากสินเชื่อตึงตัว ภาวะการเงินต่างๆ ก็มีมาตรการเข้ามาช่วย และผลจากการลดดอกเบี้ยครั้งก่อน ซึ่งช่วยครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูง" นายสักกะภพ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ