ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องกรณี บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ขอให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่สั่งให้บริษัทฯ ดำเนินการแก้ปัญหาบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ไม่ให้มีการรั่วซึม และแก้ไขปัญหาของคุณภาพน้ำในบ่อสังเกตการณ์และบ่อดักตะกอน ขุมเหมือง บ่อรับน้ำฉุกเฉินในบริเวณพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตร ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
โดยศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า เมื่อคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะทำงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 2 พ.ย.59 มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 และดำเนินโครงการสำรวจตรวจสอบโอกาสรั่วไหลของสารพิษจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF 1) ของเหมืองแร่ทองคำผู้ฟ้องคดี จังหวัดพิจิตร โดยใช้แนวคิดจากหลักวิชาการวิทยาศาสตร์ทางด้านธรณีฟิสิกส์ ใช้วิธีการตรวจวัดความต้านทานไฟฟ้าในบริเวณพื้นดินบริเวณโดยรอบบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ได้แก่ Trasiengntice Electromagnetice (TEM) และ Electrical Resistivity Imaging (ERI) และการใช้ข้อมูลทางธรณีเคมีและวิธีการไอโซโทป การวิเคราะห์ Stable Isotope ratio ของดิวทีเรียมต่อไฮโดรเจนและออกซิเจน 18 ต่อออกซิเจน 16 การหาอายุน้ำและการวิเคราะห์ Stable Isotope ของ 87Sr/86Sr
กรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจากภาคส่วนต่าง ๆ จำนวนมากและใช้วิธีการในการตรวจสอบตามหลักทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ รวมถึงมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่โดยรอบอย่างรอบด้าน
เมื่อข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบฟังได้ว่า 1.พบความผิดปกติทางความต้านทานไฟฟ้าที่แสดงถึงการรั่วไหลของน้ำของเหมืองแร่รั่วไหลจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 และพบความผิดปกติของธรณีเคมีร่วมกับไอโซโทป แสดงว่าน้ำจากบ่อกักเก็บกากแร่ไหลมาถึงบ่อสังเกตการณ์ แต่สารหนูที่พบในบ่อเฝ้าระวังไม่ได้มาจากบ่อกักเก็บกากแร่
2.จากการตรวจสอบน้ำผุดบริเวณนาข้าว (ครั้งที่ 2 ปี 2559 และครั้งที่ 3 ปี 2560) ตามที่มีการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ไม่พบไซยาไนด์ปนเปื้อนในน้ำอย่างมีนัยสำคัญ และพบการปนเปื้อนซัลเฟตในน้ำผุดที่สอดคล้องกับผลน้ำจากบ่อเฝ้าระวัง และผลการวิเคราะห์ทางเคมีชี้ว่าน่าจะเป็นน้ำรั่วไหลจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ทั้งนี้มีการตรวจพบแมงกานีสในน้ำผุด (ครั้งที่ 3) ในปริมาณที่สูง
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การรั่วไหลของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 มีสาเหตุมาจากการประกอบกิจการของเหมืองทองอัคราที่ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นการที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ มีคำสั่งให้บริษัทฯ แก้ไขปัญหาการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 และให้แก้ไขคุณภาพน้ำในบ่อสังเกตการณ์และบ่อดักตะกอน ขุมเหมือง บ่อรับน้ำฉุกเฉินในบริเวณพื้นที่โครงการให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และการที่รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมฯยืนยันคำสั่งของอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ และมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของบริษัทฯ จึงเป็นการออกคำสั่งที่มีเหตุผลที่รับฟังได้ จึงไม่ใช่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย