นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงดีอี ได้เตรียมความพร้อมประเทศไทย เพื่อการภาคยานุวัติ (การเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญา และผูกพันตามสนธิสัญญาที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนแล้ว) เป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการใช้การสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในสัญญาระหว่างประเทศ (United Nations Convention on the Use of Electronic Communications in International Contracts: ECC) ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา
สำหรับภาคีอนุสัญญา ECC เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ยอมรับการใช้เอกสารและลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อการลดข้อจำกัดทางกฎหมาย และเพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในสัญญาการค้าระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือด้านการทำธุรกรรมดิจิทัล รองรับการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ และสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย
"ที่ผ่านมา กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับข้อผูกพันตามอนุสัญญา ECC ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจไทย รองรับการค้าระหว่างประเทศผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิทัล และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับโลก" ปลัดดีอี กล่าว
นอกจากนี้ การเข้าร่วมภาคีอนุสัญญา ECC ยังช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ได้ดังนี้
(1) สร้างความมั่นคงทางกฎหมาย: การยอมรับเอกสารและลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระดับสากล ช่วยลดความซับซ้อนและข้อพิพาททางการค้า โดยสัญญาการค้าที่ทำขึ้นนั้นถูกต้องและบังคับใช้ได้เทียบเท่ากับการใช้กระดาษแบบดั้งเดิม
(2) เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน: การใช้เอกสารดิจิทัลลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม
(3) การขยายโอกาสทางการค้า: เพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ สร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน ยกระดับการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในการค้าระหว่างประเทศให้เป็นมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น
(4) สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล: ยกระดับความพร้อมของประเทศไทยในด้านดิจิทัล สอดคล้องกับนโยบาย DigiTal Economy Hub เพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดโลก และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน