โซเชียลเดือด!! "ค่าไฟแพง" ขึ้นเทรนด์ตอบโต้ภาพชื่นมื่น "ก๊วนกอล์ฟ" ทักษิณ-นายทุนพลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 23, 2024 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โซเชียลเดือด!!

"ค่าไฟแพง" ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ (X) อันดับ 1 วันนี้ หลังจากมีภาพว่อนเน็ต นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ร่วมก๊วนตีกอล์ฟกับนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ [GULF] และนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. [PTT] ขณะที่พรรคประชาชน ออกมาโจมตีนายกรัฐมนตรีที่ไม่รับฟังเสียงคัดค้านการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 เพราะเกรงว่าราคารับซื้อไฟฟ้าสูงทำให้ค่าไฟแพง

ชาวโซเชียลต่างร่วมกัน รีทวิตแท็ก #ค่าไฟแพง พร้อมเรียกร้องให้ดันแท็ก #ค่าไฟแพง ให้แรงทะลุจักรวาล โดยระบุว่าภาพที่โขว์ความใกล้ชิดสนิทสนมครั้งนี้ทำให้คนเชื่อข่าวลือว่ารัฐบาลมักเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนมากกว่าจะสนใจใยดีในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

คอมเมนท์จากผู้โพสต์ข้อความเรื่องนี้ระบุว่า ปัญหาค่าไฟแพงถือเป็นปัญหาเร่งด่วนและสำคัญกับคนไทยทั้งประเทศ เพราะการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเอื้อนายทุนจนเกินไป หลังมีการเปิดผลการคัดเลือกผู้ชนะที่จะได้สัมปทานโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในเฟส 2 ที่แม้ก่อนหน้านายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้ออกมาสั่งระงับไว้แล้วก็ตาม อีกทั้งมีการกำหนดให้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในเวลาเพียง 14 วัน

ขณะที่พรรคประชาชน ในฐานะแกนนำฝ่ายค้านและพันธมิตรได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ต.ค.67 โดยทั้งการเสนอแนะให้นายกรัฐมนตรียกเลิกการเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม เนื่องจากปริมาณสำรองที่มีอยู่ในขณะนี้สูงเกินความต้องการใช้ เพราะราคารับซื้อที่กำหนดไว้สูงส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าแพง โดยเฉพาะจากเงื่อนไขการประกันรายได้ให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 28 ต.ค.67 เรียกร้องให้ทบทวนการออกสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียนรอบสอง 3,600 เมกะวัตต์

ด้าน สส.พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ต.ค.67 แต่ รมว.พลังงาน มาตอบกระทู้แทน โดยยอมรับว่าการรับซื้อไฟฟ้า 3,600 เมกะวัตต์มีปัญหา และเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระงับการรับซื้อไฟฟ้าไว้ก่อน

แต่ต่อมาในวันที่ 26 พ.ย.67 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้ทุกหน่วยงานที่มีโครงการพลังงานสะอาดเดินหน้าทุกโครงการ และวันที่ 17 ธ.ค.67 กกพ. ได้ประกาศรายชื่อ 72 เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ปริมาณรวม 2,145 เมกะวัตต์ โดยกำหนดให้มีการลงนามสัญญาภายในวันที่ 30 ธ.ค.67

โครงการที่ได้รับคัดเลือกรอบนี้ มีโครงการของ บมจ.ผลิตไฟฟ้า [EGCO] รวม 11 โครงการ (ที่ของบริษัทเองและร่วมกับพันธมิตร) กำลังการผลิต 448 เมกะวัตต์, บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง [GUNKUL] รวม 7 โครงการ กำลังการผลิต 319 เมกะวัตต์, บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ [TSE] จำนวน 21 โครงการ กำลังผลิต 136.10 เมกะวัตต์, บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ [BGRIM] รวม 5 โครงการ กำลังการผลิต 51.12 เมกะวัตต์, บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ [GPSC] ในกลุ่ม ปตท.รวม 4 โครงการ กำลังผลิต 192.88 เมกะวัตต์ (ร่วมทุนกับพันธมิตร)

ขณะที่โครงการ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ [GULF] สอบผ่านไปตั้งแต่รอบแรก

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.67 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาย้ำอีกครั้งเรื่องการยกเลิกสัมปทานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นผู้ตอบแทน ซึ่งนายพีระพันธุ์ ได้เลื่อนการตอบกระทู้ถามออกไปก่อนเนื่องจากติดภารกิจสำคัญ

*ส่องความเห็นโซเซียล หลัง#ค่าไฟแพง ขึ้นเทรนด์วันนี้

  • ในขณะที่ประชาชนกำลังบ่นเรื่องค่าไฟแพง แต่นายทักษิณ ไปนั่งทานข้าว ตีกอล์ฟกับนายอนุทิน และนายทุน ทั้งที่ค่าไฟแพง เพราะรัฐไทยเอื้อสัมปทานให้ทุนผูกขาดเป็นสิบปี
  • ค่าไฟแพง แสดงให้เห็นว่าการเมือง (นโยบายรัฐ-สภาวะเศรษฐกิจ) กระทบทุกคนหมด ไม่ว่าจะผลเสีย ผลดี
  • หากไม่สนใจการเมืองกัน ปล่อยให้ผู้นำประเทศ นักการเมืองเอื้อนายทุน จะไร้อนาคต
  • หน้าหนาวไม่เปิดไฟ ไฟยังแพงเท่าตัว รัฐบาลเอื้อนายทุน ค่าน้ำมันแพง แล้วจะค่าไฟอีก
  • ลดค่าไฟ 0.03 บาท/หน่วย ให้ข่าวเป็นของขวัญปีใหม่ 4 เดือน แต่งุบงิบต่อสัญญาซื้อไฟเกินไปอีก 25 ปี
  • ค่าไฟแพง ไม่ใช่เหตุบังเอิญ! แต่เป็นเพราะการวางนโยบายด้านพลังงานที่เอื้อทุนมากเกินควร
  • สัญญายาวนาน 20-25 ปี อาจทำให้สูญเสียโอกาสในอนาคต จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ถูกลง
  • ล็อกโควต้าพลังงานงามลม 600 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 1,580 เมกะวัตต์ แก่ผู้ไม่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก
  • ถ้ารัฐบาลไม่หยุดตั้งแต่ตอนนี้ คนไทยต้องแบกภาระค่าไฟแพงไปอีกกี่ปี ?

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ