นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มฯ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน พ.ย.67 อยู่ที่ 89,646 คัน ลดลง 10% จากเดือน พ.ย.66 ขณะที่มีมูลค่าการส่งออก 77,699.50 ล้านบาท ลดลง 12.98% จากเดือน พ.ย.66 เช่นกัน
ส่งผลให้ยอดส่งออกรถยนต์ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.67) อยู่ที่ 942,867 คัน ลดลง 8.21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่ารวม 879,920.27 ล้านบาท ลดลง 0.96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
"เหลืออีกเดือนเดียว ดูตัวเลขแล้วสะเทือนใจ ทีแรกคิดว่าปีนี้จะดีขึ้น แต่เจอปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อแบบต้องมีความรับผิดชอบเข้าไปเพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ยอดเลยสะดุด ยังไม่รู้ว่าปีหน้าจะเป็นอย่างไร" นายสุรพงษ์ กล่าว
ขณะที่ยอดผลิตรถยนต์ในเดือน พ.ย.67 อยู่ที่ 117,251 คัน ลดลง 20.67% เทียบกับเดือน พ.ย.66 โดยการผลิตส่งออกลดลง 20.67% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 40.42% ส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 1,364,119 คัน ลดลง 20.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
"ยอดผลิตปีนี้ยังต่ำกว่าช่วงที่เกิดโควิด เพราะยอดส่งออกและยอดขายในประเทศลดลง ถ้ารัฐกระตุ้นเศรษฐกิจให้ ต้องรอลุ้นยอดผลิตเดือนสุดท้ายจะถึง 130,000 คันหรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าปีนี้ที่ตั้งไว้ 1.5 ล้านคัน" นายสุรพงษ์ กล่าว
ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน พ.ย.67 อยู่ที่ 42,309 คัน เพิ่มขึ้น 12.25% จากเดือน ต.ค.67 แต่ลดลง 31.34% จากเดือน พ.ย.66 จากการเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน เพราะเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอเติบโตในอัตราต่ำที่ 3% ในไตรมาสสามของปีนี้ แต่หนี้เสียรถยนต์เพิ่มขึ้น 22.8% จากไตรมาสสามปีที่แล้ว หนี้ครัวเรือนสูงถึง 89.6% ของ GDP ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงลดลง ยอดขายบ้านลดลงจากปีที่แล้ว รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในอัตราต่ำ ส่งผลให้ช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 518,659 คัน ลดลง 26.69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
*ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
- ประเภท BEV เดือน พ.ย.67 มีจดทะเบียนใหม่จำนวน 7,354 คัน ลดลง 34.86% จากเดือน พ.ย.66 และช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 89,658 คัน เพิ่มขึ้น 0.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจุบันมีจดทะเบียนทั้งสิ้น 220,439 คัน เพิ่มขึ้น 82.61% จากปีที่แล้ว
- ประเภท HEV เดือน พ.ย.67 มีจดทะเบียนใหม่จำนวน 8,409 คัน เพิ่มขึ้น 11.76% จากเดือน พ.ย.66 และช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 121,228 คัน เพิ่มขึ้น 52.37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจุบันมีจดทะเบียนทั้งสิ้น 463,663 คัน เพิ่มขึ้น 37.11% จากปีที่แล้ว
- ประเภท PHEV เดือน ต.ค.67 มีจดทะเบียนใหม่จำนวน 768 คัน ลดลง 2.17% จากเดือน พ.ย.66 และช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 8,851 คัน ลดลง 20.75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจุบันมีจดทะเบียนทั้งสิ้น 62,670 คัน เพิ่มขึ้น 17.25% จากปีที่แล้ว
ส่วนกรณีที่บริษัทแม่ของค่ายนิสสันและฮอนค้าในประเทศญี่ปุ่นประกาศร่วมมือกันในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้านั้นจะส่งผลดีต่อทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวของไทย เพราะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ขณะที่ตลาดโลกให้ความสนใจในเรื่องการลดปริมาณคาร์บอนเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมกันมากขึ้น
สำหรับการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมยานยนต์ประสบภาวะตกต่ำนั้น ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เสนอแนวทางไปให้รัฐบาล โดยจัดตั้งกองทุนชดเชยการขาดทุนจากรถยึดวงเงิน 5 พันล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดขายรถกระบะที่เป็นเครื่องมือในการทำมาหากินของประชาชน หากมียอดขายรถกระบะเพิ่มขึ้น 1 แสนคัน หรือมูลค่า 6 หมื่นล้านบาท รัฐจะมีรายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิต 1.8 พันล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.2 พันล้านบาท ซึ่งสูงกว่างบที่นำมาจัดตั้งกองทุนฯ นอกจากนี้ยังมีรายได้จากส่วนอื่นๆ หากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวเติมโตได้ดี
"ปีนี้คงไปกระตุ้นไม่ทันแล้ว ถ้ากระตุ้นยอดขายรถกระบะเพิ่มอีก 1 แสนคัน ยอดผลิตรถปีหน้าจะอยู่ที่ 1.8-1.9 ล้านคัน น่าจะมีส่วนช่วยให้จีดีพีปีหน้าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ 2.8% เป็น 3.1-3.2%" นายสุรพงษ์ กล่าว