"ขนมขบเคี้ยว" เตรียมโดนเก็บภาษีความเค็ม! สรรพสามิต เร่งศึกษาคาดชัดเจนปี 68

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 25, 2024 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดการจัดเก็บภาษีจากความเค็ม (ภาษีโซเดียม) ซึ่งเบื้องต้นจะพิจารณาจัดเก็บภาษีความเค็มจากสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยวก่อน เพราะถือเป็นสินค้าในกลุ่มที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน โดยอาจเป็นการจัดเก็บภาษีในอัตราขั้นบันได เช่นเดียวกับภาษีความหวาน ที่ได้มีผลบังคับใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยคาดว่าจะน่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2568

สำหรับหลักเกณฑ์เบื้องต้นนั้น กรมฯ จะพิจารณาจากปริมาณเกลือที่อยู่ในผลิตภัณฑ์หรือสินค้านั้น โดยหากมีปริมาณเกลือมาก ก็จะต้องเสียภาษีมาก แต่หากมีปริมาณเกลือน้อย ก็จะเสียภาษีในระดับที่ลดลง

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนส่วนผสมที่ใช้ในการปรุงแต่งอาหาร โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาและพิจารณาในรายละเอียดสำหรับการดำเนินการ ซึ่งจะต้องดูให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต และหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ก็จะมีระยะเวลาให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว

"ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ที่มีการจัดเก็บภาษีความหวาน พบว่าประชาชนบริโภคหวานลดลง จึงถือว่าเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพที่จะเข้ามาช่วยดูแลสุขภาพของประชาชน ส่วนเรื่องโซเดียมนั้น มีข้อมูลระบุว่าคนไทยบริโภคโซเดียม สูงกว่าอัตราที่ควรจะเป็นถึง 2 เท่า ดังนั้นกรมฯ จึงจะต้องเข้ามาพิจารณาในส่วนนี้ โดยดูว่าจะใช้กลไกภาษีอย่างไร เพื่อให้ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม" อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุ

น.ส.กุลยา ยังกล่าวถึงเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ในปีงบประมาณ 2568 (ต.ค.67-ก.ย.68) ว่า อยู่ที่ 6.09 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้าถึง 16% ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย โดยยังไม่ได้รวมมาตรการด้านภาษีที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งหลังจากนี้ อาจจะต้องพิจารณาเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ให้สอดคล้องกับมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลมากขึ้น

ขณะที่ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ในช่วงเกือบ 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ต.ค.-ธ.ค.67) อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ 1.18 แสนล้านบาท โดยหลัก ๆ มาจากภาษีเบียร์ ที่เติบโตได้เป็นอย่างดี และภาษีน้ำมัน ที่สามารถจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 53,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 40,414 ล้านบาท รวมถึงภาษีสุรา-ยาสูบ ที่ยังสามารถจัดเก็บได้ในระดับที่ทรงตัว ส่วนการจัดเก็บรายได้ที่ต้องจับตา ได้แก่ ภาษีรถยนต์ ซึ่งจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 15,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 23,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ