มหากาพย์!! เก้าอี้ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ รอกฤษฎีกายืนยันคุณสมบัติ "กิตติรัตน์" ก่อนไปต่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 26, 2024 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับทราบความเห็นอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่นัดประชุมเมื่อวานนี้ (25 ธ.ค.) ในการพิจารณาคุณสมบัติของ "นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง" อดีตประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเสนอชื่อให้เป็นประธานกรรมการ ธปท. (ประธานบอร์ด ธปท.) ว่าเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่

ซึ่งตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดคุณสมบัติไว้ว่า จะต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

นายสถิตย์ กล่าวว่า ตามขั้นตอนแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกาจะต้องทำหนังสือความเห็นตอบกลับไปที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ซึ่ง รมว.คลัง จะมอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลัง (นายลวรณ แสงสนิท) ได้พิจารณาดำเนินการต่อไป เนื่องจากการเสนอชื่อในฝ่ายของกระทรวงการคลังนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ หากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาว่าตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นตำแหน่งทางการเมืองนั้น ก็จะทำให้นายกิตติรัตน์ ไม่ผ่านคุณสมบัติที่จะนั่งเป็นประธานบอร์ด ธปท. ดังนั้นสิ่งที่ปลัดกระทรวงการคลังจะทำได้ มี 2 แนวทาง คือ 1.นิ่งเฉย หรือ2.ขอเสนอรายชื่อใหม่

"ปลัดคลังทำได้ 2 อย่าง คือนิ่งเฉย หรือขอเสนอชื่อคนใหม่ ด้วยเหตุผลถ้าหากกฤษฎีกามีมติออกมาเช่นนั้นจริง แต่ขณะนี้ ก็ยังไม่ทราบมติอย่างเป็นทางการ ว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ (นายกิตติรัตน์) เป็นผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เป็นแค่ข่าว ที่ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกฤษฎีกา" นายสถิตย์ กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่กระทรวงการคลังได้รับความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว จะต้องประสานงานกันภายในว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ต่ออย่างไร หากนิ่งเฉย ก็เป็นหน้าที่ที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะต้องนัดประชุม เพื่อพิจารณาผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายคนถัดไป เพื่อเสนอเป็นประธานบอร์ด ธปท. ต่อไป

แต่นายสถิตย์ เห็นว่า หากกฤษฎีกามีความเห็นว่านายกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติเพราะเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นลำดับถัดไปจากฝั่งของ ธปท. ก็จะถือว่าขาดคุณสมบัติด้วย เพราะนายกุลิศ ก็เคยเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ซึ่งอยู่ในชุดเดียวกับนายกิตติรัตน์เช่นกัน

"คงต้องขอให้ผู้ว่าฯ ธปท. เสนอชื่อเข้ามาใหม่ได้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการเสนอชื่อใหม่ เพราะถ้าให้ปลัดคลังเสนอชื่อใหม่ ก็ควรให้ผู้ว่าฯ ธปท.เสนอชื่อใหม่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน" นายสถิตย์ กล่าว

พร้อมระบุว่า จากที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา "มีธง" อยู่ในใจแล้วนั้น ก็ไม่แน่ใจว่าธงนั้น จะออกมาในรูปแบบไหน เพราะถ้าตีความที่เลขาธิการกฤษฎีกาพูดว่า "เป็นแค่ตำแหน่งที่ไว้สำหรับพิมพ์นามบัตร" ก็จะถือว่า ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างแน่นอน แต่ก่อนหน้านี้กฤษฎีกาชุดใหญ่ เคยมีบันทึกเรื่องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศ หรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น ถ้าตำแหน่งนี้มีไว้เพียงแค่พิมพ์นามบัตร ก็ไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมือง ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้ก่อนหน้านี้

"ถ้าดูตามตัวอักษรและเจตนารมย์ คือ มีหน้าที่ "อำนวยการบริหารประเทศ" คำหนึ่ง และ "ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน" อีกคำหนึ่ง ดังนั้นการให้คำปรึกษา ก็ขึ้นกับผู้ที่ได้รับการปรึกษา ว่าจะไปอำนวยการบริหารประเทศ หรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร" นายสถิตย์ กล่าว

และเห็นว่า หากกระแสข่าวที่พูดกันเป็นเรื่องจริงว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ (คณะกฎหมายการเมืองการปกครอง, คณะกฎหมายการบริหารราชการแผ่นดิน และคณะกฎหมายการบริหารจัดการภาครัฐ) ที่ลงความเห็นว่านายกิตติรัตน์ ไม่ผ่านคุณสมบัติ เพราะเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน ไม่สามารถเป็นประธานบอร์ด ธปท.ได้นั้น ก็จะถือว่าเป็นมาตรฐานใหม่ที่ต่างไปจากมาตรฐานเดิมที่ที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยกำหนดไว้

"เพราะเดิม ที่ประชุมใหญ่กฤษฎีกา เคยมีความเห็นเป็นอย่างนั้นแล้ว และในครั้งนี้ หากเป็นจริงว่ามีความเห็นเป็นอย่างอื่น ก็จะถือเป็นมาตรฐานใหม่" นายสถิตย์ กล่าว ส่วนคณะกรรมการกฤษฎีกาจะถูกมอง 2 มาตรฐานหรือไม่นั้น คงต้องรอฟังจากเหตุผล และข้อเท็จจริงทางกฎหมาย โดยพิจารณาด้วยเหตุและผล

ส่วนที่มีการมองย้อนไปในอดีตว่า หากจะยึดหลักการคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ไม่สามารถทำหน้าที่ประธานบอร์ด ธปท.ได้นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ นายวิรไท สันติประภพ และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ จะเป็นผู้ว่าฯ ธปท.ได้อย่างไร เพราะทั้ง 2 คน เคยเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแล้วเช่นกันนั้น นายสถิตย์ กล่าวเพียงว่า "ไม่ได้ติดตามว่ ตอนที่ตั้งนั้น อาศัยตาม พ.ร.บ.ธปท.หรือไม่ แต่ถ้าเป็นไปตาม พ.ร.บ. ธปท. ก็จะต้องใช้หลักการเดียวกัน"

*รับมีการเมืองแทรก

นายสถิตย์ กล่าวด้วยว่า การคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ ธปท.นี้ โดยหลักการแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะต้องพิจารณาไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ยอมรับว่า ในความเป็นจริงกลับปรากฎว่ามีเรื่องของหลักรัฐศาสตร์เข้ามาด้วย มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการเมืองของฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายไม่สนับนุน นำข้อเท็จจริงที่นอกเหนือไปจากหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เข้ามาเกี่ยวด้วย และบังเอิญว่าสิ่งที่อยู่นอกเหนือหลักของกฎหมาย และระเบียบนั้น เสียงดังกว่า จึงทำให้มีความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป

"ในหลักการแล้ว ผมคิดว่าต้องรักษาหลักการของกฎหมาย และต้องตีความให้สอดคล้องกับเจตนารมย์ของกฎหมายที่มีอยู่ และในการวินิจฉัยข้อกฎหมายทั้งหลาย ต้องทำใจเป็นกลาง ยึดมั่นในหลักการทั้งที่เป็นตัวอักษร และเจตนารมย์ โดยไม่พะวงกับสภาพแวดล้อมอย่างอื่น เช่น ทัศนคติ หรือความเห็นที่อาจจะเป็นอย่างสุจริตใจ เราต้องคำนึงถึงหลักกฎหมาย หลักนิติธรรม หลักนิติรัฐที่มีอยู่" นายสถิตย์ กล่าวในท้ายสุด

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ยืนยันว่า ยังไม่ได้รับทราบความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งโดยขั้นตอนแล้ว กฤษฎีกาจะต้องส่งความเห็นกลับมาที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง

อย่างไรก็ดี หากคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาแล้วเห็นว่าตำแหน่ง "ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี" ถือเป็นตำแหน่งทางการเมืองจริง ซึ่งจะมีผลให้นายกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติในการเป็นประธานบอร์ด ธปท.นั้น นายกุลิศ ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากฝั่งของ ธปท. ก็ต้องขาดคุณสมบัติด้วยเช่นกัน เพราะเป็นที่ปรึกษาฯ อยู่ในชุดเดียวกับนายกิตติรัตน์ และหากผลสุดท้ายออกมาเป็นเช่นนี้ การเริ่มต้นกระบวนการคัดเลือกใหม่ทั้งหมด ถือเป็นความเหมาะสมที่จะต้องดำเนินการ

"ยังไม่ทราบจริงๆ ว่าผลของกฤษฎีกาว่าจะออกมาแนวทางใด แต่หากเป็นอย่างที่มีข่าว ก็ควรจะต้องเริ่มการคัดเลือกใหม่ เพราะถ้าคุณกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติ คุณกุลิศ ก็ต้องขาดคุณสมบัติเหมือนกัน เพราะนั่งเป็นที่ปรึกษาอยู่ในคณะเดียวกัน" รมช.คลัง ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ