สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า จากข้อมูลพยากรณ์ปริมาณการผลิตไม้ผลทั้งประเทศ ในปี 2568 ของศูนย์สารสนเทศการเกษตร คาดว่า ภาพรวมปี 2568 มีปริมาณผลผลิตไม้ผลทั้ง 6 ชนิด (ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ลำไย และลิ้นจี่ ข้อมูลพยากรณ์ ณ พฤศจิกายน 2567) รวมทั้งสิ้น 3.68 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวนรวม 3.26 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 0.42 ล้านตัน หรือ 12.72%)
นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า เนื่องจากปี 2567 มีสภาพอากาศที่แปรปรวน อากาศร้อนแล้ง ทำให้หลายพื้นที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอในช่วงออกดอก และสลับกับมีฝนตกต่อเนื่องในช่วงติดผล ทำให้ดอกแห้งฝ่อ ฝนชะดอกร่วง บางส่วนแตกยอดอ่อนแทนการออกดอก และส่วนที่ติดผลแล้ว สลัดผลอ่อนทิ้งเสียหายจำนวนมาก ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ทำให้ไม้ผลมีเวลาพักต้นเพื่อสะสมอาหาร ต้นจึงสมบูรณ์ ประกอบกับในปี 2568 คาดว่าสภาพอากาศเอื้ออำนวย มีช่วงแล้งเหมาะสมในช่วงไม้ผลออกดอก ส่งผลให้การออกดอกติดผลดีกว่าปี 2567
"โดยภาพรวม เนื้อที่เพาะปลูกของไม้ผลทุกชนิดลดลง ยกเว้น ทุเรียน ที่มีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทุเรียนที่ปลูกในปี 2563 เริ่มให้ผลผลิตได้ในปีนี้" รองเลขาธิการ สศก. ระบุ
- ทุเรียน มีปริมาณผลผลิต 1.66 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดิม ที่มีจำนวน 1.29 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 370,251 ตัน หรือ 28.75%)
- เงาะ มีปริมาณผลผลิต 0.21 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดิม ที่มีจำนวน 0.20 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 9,670 ตัน หรือ 4.76%)
- มังคุด มีปริมาณผลผลิต 0.28 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดิม ที่มีจำนวน 0.27 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 7,280 ตัน หรือ 2.67%)
- ลองกอง มีปริมาณผลผลิต 0.05 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดิม ที่มีจำนวน 0.047 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 2,413 ตัน หรือ 5.11%)
- ลำไย มีปริมาณผลผลิต 1.46 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดิม ที่มีจำนวน 1.44 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 16,388 ตัน หรือ 1.14%)
- ลิ้นจี่ มีปริมาณผลผลิต 0.02 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดิม ที่มีจำนวน 0.01 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 9,138 ตัน หรือ 63.75%)
โดยจะเริ่มต้นฤดูกาลผลไม้ไทย ปี 2568 ด้วยผลไม้ของภาคตะวันออก ซึ่งจะทยอยออกสู่ตลาดที่จะทยอยเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป ขณะที่ภาคเหนือ จะเริ่มออกสู่ตลาดเดือนมีนาคม และภาคใต้ เริ่มออกตลาดเดือนมิถุนายน
รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ข้อมูลผลพยากรณ์ผลผลิต ปี 2568 เป็นผลการคาดการณ์จากในระยะที่ไม้ผลอยู่ระหว่างการเตรียมต้น และออกดอก ซึ่ง สศก. จะติดตามสถานการณ์การผลิตอย่างต่อเนื่องต่อไป และจะมีการพยากรณ์ไม้ผลรอบ 2 อีกครั้งในเดือนมี.ค.68
"เนื่องจากผลไม้ มีความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ได้ปริมาณการผลิตไม้ผล นำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับกระทรวง กรม และจังหวัด ได้นำข้อมูลผลพยากรณ์ผลผลิตไปใช้ประโยชน์ในการเตรียมมาตรการนโยบายในการบริหารจัดการผลไม้ต่อไป" นางธัญธิตา กล่าว