สบส.-อย.-แพทยสภา-เอกชนหนุน ATMPs สร้างเศรษฐกิจสุขภาพยั่งยืนดันไทยสู่ "ศูนย์กลางการแพทย์สมัยใหม่"

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 27, 2024 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สบส.-อย.-แพทยสภา-เอกชนหนุน ATMPs สร้างเศรษฐกิจสุขภาพยั่งยืนดันไทยสู่

ประเทศไทยกำลังเร่งเดินหน้าสู่การเป็น "ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง" โดยตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำด้านการแพทย์สมัยใหม่ในระดับโลกภายในปี 2570 โดยเฉพาะการพัฒนา ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medicinal Products: ATMPs) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ ยีนบำบัด เซลล์บำบัด และการวิศวกรรมเนื้อเยื่อ

นพ.กรกฤช ลิ้มสมมติ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยในการประชุมหัวข้อ "ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศไทย" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี ว่า "ตลาดผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงทั่วโลกในปี 2023 มีมูลค่ากว่า 11.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 35.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2032 โดยประเทศไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ของเรา"

สบส.-อย.-แพทยสภา-เอกชนหนุน ATMPs สร้างเศรษฐกิจสุขภาพยั่งยืนดันไทยสู่

ยุทธศาสตร์สำคัญสู่การเป็น Medical Hub

นพ.กรกฤชระบุว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการแพทย์และสุขภาพของประเทศไทยในช่วงปี 2568-2577 มุ่งเน้น 3 ด้านหลัก ได้แก่

1. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน: ส่งเสริมนวัตกรรมทางการแพทย์และปรับปรุงกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการลงทุน

2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร: เตรียมความพร้อมด้านระบบนิเวศและพัฒนาผู้เชี่ยวชาญในสาขาการแพทย์ล้ำสมัย

3. ส่งเสริมธุรกิจสุขภาพและ Medical Tourism: ดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและพัฒนาบริการที่มีมูลค่าสูง

*ประเทศไทยคือผู้นำด้าน ATMPs

ปัจจุบัน ATMPs ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมการแพทย์ที่มีศักยภาพสูง โดยมุ่งเน้นการรักษาโรคที่ซับซ้อน เช่น โรคมะเร็งและโรคทางพันธุกรรม ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มต้นวิจัยและทดลองทางคลินิกในกลุ่มโรคเหล่านี้กว่า 2,000 ราย

นพ.กรกฤช ย้ำว่า การสนับสนุนจากภาครัฐผ่านการจัดตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานเฉพาะด้าน จะช่วยผลักดันมาตรฐานการผลิตและความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ ATMPs ของไทย พร้อมทั้งสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศ

เทคโนโลยีด้านการแพทย์ในระดับโลกพัฒนาก้าวหน้ารวดเร็ว สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการสุขภาพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศไทย ในครั้งนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายทราบว่า เทคโนโลยีด้านการแพทย์ในปัจจุบันระดับโลกได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการนำเซลล์ เนื้อเยื่อ และยีน ของมนุษย์มาดัดแปลงมาใช้ในการรักษาโรคของมนุษย์ การรักษาโรคทางการแพทย์จึงก้าวกระโดดข้ามอุปสรรคกีดขวางที่มีอยู่ ทำให้สามารถรักษาโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยเทคโนโลยีแบบเดิม โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และ อย. สหรัฐ (USFDA) เรียกหมวดการผลิตภัณฑ์แบบใหม่นี้ว่า Cell, Tissue and Gene Therapy Products และ อย. ยุโรป (EMA) เรียกว่า Advanced Therapy Medicinal Products (ATMPs)

*ชาวโลกยอมรับมาตรฐานการรักษาของแพทย์ไทย

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการบริการการรักษาทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับมาตรฐานจากทั่วโลก จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับเทคโนโลยีด้านการแพทย์แบบใหม่ เนื่องจากเทคโนโลยีชนิดนี้ เป็นหมวดผลิตภัณฑ์การรักษาทางการแพทย์หมวดใหม่ของโลก ในระบบสากลได้มีการพัฒนาระบบควบคุมกำกับสำหรับหมวดนี้ ซึ่งหน่วยงานควบคุมกำกับของไทยได้เริ่มการพัฒนาระบบควบคุมกำกับสำหรับผลิตภัณฑ์การรักษาทางการแพทย์ไปบางส่วนแล้ว

"ในโรงเรียนแพทย์ได้เริ่มมีการพัฒนาการผลิตและการวิจัยในมนุษย์ด้วยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ไปบ้างแล้ว โดยการจัดประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ทันสมัย กระตุ้นให้ภาคเอกชนและภาครัฐประสานความร่วมมือ เช่น ทิศทางของตลาดโลก นโยบายของรัฐบาลไทย นโยบายของกระทรวงต่าง ๆ ระบบทุน ววน. (วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีกลุ่มนี้ ระบบควบคุมกำกับสากล สถานการณ์ความต้องการเทคโนโลยีชนิดนี้ในสถานพยาบาลเอกชน ความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรม เพื่อจะได้นำข้อมูลต่าง ๆ ไปพัฒนาประเทศด้านการออกแบบระบบควบคุมกำกับสอดคล้องสากลและส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย การวิจัยพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ การยกระดับขัดความสามารถอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์การแพทย์มูลค่าสูงที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับการนำไปใช้บริการการรักษาทางการแพทย์สมัยใหม่ของไทยต่อไป"

*รมว.สาธารณสุข ประกาศให้ ATMPs เป็นยา

ขณะที่ รศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (EC-ATMPs), โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้บรรยายหัวข้อ "Current Thailand ATMP Situation: Industry and Regulation" ว่า มาตรา 7 แพทยสภามีวัตถุประสงค์ คือ ควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม

โดยมาตรา 7 (2) ส่งเสริมการวิจัย ไม่ใช่ควบคุมกำกับการวิจัย และมาตรา 8 (1) - (6) ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของแพทยสภาไม่มีข้อใดเกี่ยวข้องกับการควบคุมกำกับกระบวนการวิจัย ซึ่งการกำหนดนิยามวัตถุ (คือ เซลล์) ที่ใช้กับมนุษย์ในทางการแพทย์การใช้เซลล์สำหรับมนุษย์ในทางการแพทย์ มีดังนี้

1. วินิจฉัยโรค เช่น Lab on a Chip เป็นเครื่องมือแพทย์แบบ IVD

2. ใช้รักษาโรคของมนุษย์แบบไม่ใช่ยา เป็นเวชปฏิบัติทางการแพทย์

3. ใช้รักษาโรคของมนุษย์ แบบเป็นยา

4. ใช้บำบัด บำรุง บรรเทา ทางสุขภาพ แบบผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การผลิตยาในโรงพยาบาล ออกมาเป็นราชกิจจานุเบกษา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สมศักดิ์ เทพสุทิน) ประกาศให้ ATMPs เป็นยา

*แพทยสภา ส่งเสริม ATMPs และงานวิจัยด้านสเต็มเซลล์เต็มที่

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภา พร้อมส่งเสริม ATMPs และงานวิจัยด้านสเต็มเซลล์เต็มที่ ไม่ได้ขัดขวางการวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์แต่อย่างใด เพื่อให้วงการแพทย์มีการพัฒนาและก้าวหน้าต่อไป

ขณะที่ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ ปัจจุบันเป็นหัวหน้ากลุ่มแพทย์ชื่อกลุ่มเพื่อแพทย์ลงสมัครกรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องก้าวหน้าทางการแพทย์ เช่น สเต็มเซลล์ ที่ทั่วโลกมีผลวิจัยว่าใช้ได้จริงในโรคที่มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลและให้คำปรึกษา ดังนั้นประเทศไทยต้องยึดความเป็นอินเตอร์เนชันแนลในการกำหนดกฎหมายให้ออกมาเป็นมาตรฐานสากล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ