ส่องความท้าทายเศรษฐกิจไทยปี 68 แนะรับมือสภาพอากาศแปรปรวน-นโยบายทรัมป์ 2.0 เพิ่มความเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 27, 2024 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ส่องความท้าทายเศรษฐกิจไทยปี 68 แนะรับมือสภาพอากาศแปรปรวน-นโยบายทรัมป์ 2.0 เพิ่มความเสี่ยง

น.ส.ทัศดา แสงมานะเจริญ เจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาอาวุโส Clients & Markets บริษัท ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2568 แล้วยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การเติบโตของ GDP ต้องอาศัยปัจจัยขับเคลื่อนจากการบริโภคจากภาคเอกชนและการท่องเที่ยว ซึ่งข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ให้เห็นว่า ไทยควรพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น โดยมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียรายได้มากกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปีจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความท้าทายนี้ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เช่น การพัฒนามหรสพ พิพิธภัณฑ์ และดนตรีในร่ม เป็นแนวทางที่สำคัญ สถานที่กลางแจ้งควรจัดเตรียมด้านแสงสว่างและการคมนาคมที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถปรับเวลาการท่องเที่ยวให้หลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่องความท้าทายเศรษฐกิจไทยปี 68 แนะรับมือสภาพอากาศแปรปรวน-นโยบายทรัมป์ 2.0 เพิ่มความเสี่ยง

ขณะที่นโยบายทรัมป์ 2.0 ที่เพิ่มความเสี่ยงทางการค้าโลกจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ไทยและผู้ส่งออกต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย เนื่องจากในปี 2566 ไทยส่งออกไปยังสหรัฐเป็นมูลค่ากว่า 48,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 17% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกว่า 18% ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ดังนั้นการเพิ่มภาษีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจของไทยอย่างมีนัยสำคัญ

หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2533 ไทยเคยมีอัตราการเติบโตของ GDP สูงสุดในภูมิภาคอาเซียนที่ 11% โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยระหว่างปี 2533-2538 อยู่ที่ 8.7% ขณะที่อาเซียนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 5.6% แต่หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเริ่มลดลงและต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (57-66) GDP ของไทยเติบโตเพียง 1.8% ขณะที่อาเซียนมีการเติบโตมากกว่า 3.7%

ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อรายเดือนนั้นไทยยังคงสามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่เคยมีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 11% นับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งจนถึงปัจจุบัน ขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนามเคยเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่สูงกว่า 80% ในปี 2541 และกว่า 28% ในปี 2553 ตามลำดับ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 อาจเติบโตเพียง 0.4% แต่จะเริ่มเข้ากรอบเป้าหมายที่ 1.1% ในปี 2568

การที่อัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำบวกกับการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม 2567 ทำให้คาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในอนาคต แม้จะมีการปรับลดไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2567 ขณะที่หนี้ครัวเรือนไทยปรับฤดูกาล ณ ไตรมาส 2/67 ยังสูงถึง 89.8% ต่อ GDP โดยกว่า 28% เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ข้อมูลจากเครดิตบูโรยังระบุว่ายอดหนี้เสีย ณ เดือนกันยายน 2567 สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน การปรับอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อทิศทางของค่าเงินบาท หากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก เนื่องจากผู้ส่งออกจะได้รับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายสินค้าในตลาดต่างประเทศ

นายนเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร Clients & Markets ดีลอยท์ฯ กล่าวว่า สวิตเซอร์แลนด์กำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในฐานะตลาดส่งออกของไทย โดยข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ไทยส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์มูลค่ากว่า 3,600 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้สวิตเซอร์แลนด์มีแนวโน้มที่จะเป็นคู่ค้าลำดับที่สองของไทยในยุโรป ขณะที่มีการเจรจาความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์ในกรอบการเจรจา Free Trade Agreement ระหว่างไทยและสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ซึ่งรวมถึงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ด้วย

นอกเหนือจากมุมมองด้านเศรษฐกิจแล้วยังมีความท้าทายสำคัญ ดังนี้

1.ความผันผวนของห่วงโซ่อุปทาน ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ และการขาดแคลนทรัพยากรมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจำเป็นต้องมีแนวปฏิบัติที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้ รวมถึงการนำเทคโนโลยีการคาดการณ์มาใช้เพื่อลดความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ

2.แรงกดดันด้านความยั่งยืน บริษัทต่าง ๆ ต้องสร้างสมดุลระหว่างผลกำไรกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและข้อบังคับทางกฎหมาย ภายใต้การตรวจสอบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เพิ่มขึ้น

3.การผสานรวม AI และการพัฒนาทักษะใหม่ของแรงงาน การนำระบบ AI ขั้นสูงมาใช้ ควบคู่กับการจัดการปัญหาด้านอคติ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และการอัตโนมัติ จำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการกำกับดูแลของมนุษย์กับนวัตกรรม การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วจำเป็นต้องมีการยกระดับทักษะแรงงานอย่างมาก ซึ่งก่อให้เกิดช่องว่างด้านความสามารถและความท้าทายในการรักษาบุคลากรในองค์กร

"การเติบโตของ AI แบบ Agentic ถือเป็นแนวโน้มสำคัญในวงการ AI ที่ช่วยช่วยส่งเสริมการตัดสินใจแบบอัตโนมัติและมีเป้าหมายที่ชัดเจน นอกเหนือจากการสร้างเนื้อหา ระบบเหล่านี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งเสริมนวัตกรรม และยกระดับการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร โดย AI แบบ Agentic แตกต่างจาก Generative AI ที่มุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมที่ซับซ้อนเพื่อบรรลุเป้าหมายเฉพาะ โดยอาศัยการเรียนรู้ของเครื่องและระบบอัตโนมัติ" นายนเรนทร์ กล่าว

การประยุกต์ใช้ AI แบบ Agentic ครอบคลุมถึงการบริการลูกค้า การผลิต การขาย และการดูแลสุขภาพ ซึ่งนำเสนอความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของแรงงาน นวัตกรรม และความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายในด้านการประสานงานของทีมงาน การปรับระดับความไว้วางใจ และการกำหนดเป้าหมายความสำเร็จ ซึ่งต้องอาศัยเป้าหมายที่ชัดเจน บทบาทของทีมงานที่มีประสิทธิภาพ และการกำกับดูแลที่สมดุล เพื่อปลดล็อกศักยภาพการเปลี่ยนแปลงของ AI แบบ Agentic และจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในคราวเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ