เศรษฐกิจ CLMV ปี 68 โตชะลอตามศก.โลกแผ่ว เผชิญความเสี่ยงหลายด้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 27, 2024 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เศรษฐกิจ CLMV ปี 68 โตชะลอตามศก.โลกแผ่ว เผชิญความเสี่ยงหลายด้าน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) ปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงเล็กน้อย ตามเศรษฐกิจโลกที่จะแผ่วลง จากผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมของนโยบาย Trump 2.0 เช่น ผลจากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนและประเทศอื่น ๆ, สินค้าจีนราคาถูกเข้ามาตีตลาดในประเทศมากขึ้นทดแทนตลาดสหรัฐฯ, อัตราดอกเบี้ยนโยบายประเทศเศรษฐกิจหลัก ปรับลดน้อยกว่าที่เคยคาดไว้จากแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น, ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์ที่เร่งตัว

อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศ CLMV มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการจ้างงาน ช่วยบรรเทาผลกระทบจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอตัวได้บ้าง นอกจากนี้ เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนที่เติบโตดี จะช่วยสนับสนุนภาคท่องเที่ยวของเศรษฐกิจ CLMV ให้ขยายตัวต่อเนื่องได้ รวมถึงเศรษฐกิจ CLMV จะได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติ เพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และหลีกเลี่ยงอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่อาจปรับสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการส่งออกในระยะต่อไป

โดยในปี 2568 SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 6.0% (ทรงตัวจากปี 2567) สปป.ลาว 4.3% (ลดลงจาก 4.5% ในปี 2567) เมียนมา 2.2% (ลดลงจาก 2.3% ในปี 2567) และเวียดนาม 6.5% (ลดลงจาก 6.8% ในปี 2567)

* ปัจจัยเฉพาะแต่ละประเทศ มีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ
  • เวียดนาม : มีแนวโน้มเติบโตดีที่สุดในกลุ่ม เนื่องจากได้ประโยชน์จากกระแสการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียน ด้วยห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่มีความพร้อม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงระยะทางการขนส่งไปตลาดจีนที่สั้น ตลาดในประเทศที่เติบโตดี และความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต และสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ
  • กัมพูชา : จะเติบโตดีรองลงมา จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ช่วยสนับสนุนตลาดแรงงานในประเทศ และเสถียรภาพการคลังที่ยังมั่นคง สามารถใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนที่เติบโตชะลอลงจะเป็นปัจจัยกดดัน เพราะกัมพูชาพึ่งพาจีนสูงในหลายด้าน
  • สปป.ลาว : ยังเปราะบางสูง แม้จะได้อานิสงส์จากอุปสงค์ในภูมิภาคอาเซียน แต่เสถียรภาพด้านการคลัง และเสถียรภาพด้านต่างประเทศยังเปราะบางมาก ท่ามกลางค่าเงินกีบอ่อน เงินเฟ้อสูง ทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ และต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น หลังถูกจัดอันดับเครดิตที่ระดับ Speculative ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันศักยภาพเศรษฐกิจต่อไป
  • เมียนมา : ขยายตัวต่ำต่อเนื่อง ผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจซบเซา ท่ามกลางเหตุการณ์รุนแรงที่ยังไม่คลี่คลาย ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก มีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น เงินจัตอ่อนค่า เงินเฟ้อเร่งตัว และการขาดแคลนปัจจัยการผลิตจากเส้นทางการขนส่ง และการค้าหยุดชะงัก

SCB EIC ระบุว่า เศรษฐกิจ CLMV จะต้องเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำหลายด้าน ทั้งจากนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจมีการกีดกันการค้าประเทศวงกว้างกว่าที่ Trump หาเสียงไว้ โดยเฉพาะเวียดนาม ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อาจแข็งขึ้นจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยปลายทาง (Terminal rate) ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่จะสูงกว่าคาดการณ์เดิม กดดันให้ค่าเงินกลุ่มประเทศ CLMV เผชิญแรงกดดันอ่อนค่ามากขึ้น ส่งผลทำให้เงินเฟ้อลดลงช้า และหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในบางประเทศที่พึ่งพาการกู้จากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกัน มูลค่าหนี้เสียที่ยังอยู่ในระดับสูงในบางประเทศ อาจกดดันการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ และเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินในประเทศ รวมทั้งกดดันการลงทุนภายในประเทศ สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา เนื่องจากจะกระทบต่อผลผลิตการเกษตร และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ซึ่ง CLMV จัดว่าเป็นภูมิภาคที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลำดับต้น ๆ ของโลก

*การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV

มีแนวโน้มขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปในปี 2568 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวม อุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น และการค้าชายแดนไทย-เมียนมาที่ฟื้นตัว ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV ในปี 2568 มีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้น ปัจจัยสนับสนุนมาจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย และโลก ที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากปี 2567 และบรรยากาศแวดล้อมทางธุรกิจที่ปรับดีขึ้น

ในระยะปานกลาง SCB EIC มองว่าเศรษฐกิจ CLMV ยังเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพการเติบโตโดดเด่นและน่าสนใจ สำหรับธุรกิจไทยที่ต้องการขยายตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาค รวมถึงต้องการกระจายฐานการผลิต เพื่อลดต้นทุนและใช้ประโยชน์จากสนธิสัญญาการค้าเสรี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ