รายงาน กนง.ย้ำเหตุคงดอกเบี้ยเก็บกระสุนไว้ยามจำเป็นเพื่อความขลังของนโยบายการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 2, 2025 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงาน กนง.ย้ำเหตุคงดอกเบี้ยเก็บกระสุนไว้ยามจำเป็นเพื่อความขลังของนโยบายการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.67 ซึ่ง กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ต่อปี เนื่องจากคณะกรรมการฯ ประเมินว่าการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (policy space) มีความจำเป็นเพิ่มขึ้นภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น การรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน เพื่อตอบสนองในช่วงเวลาที่เหมาะสมจึงมีความจำเป็นเพื่อให้นโยบายการเงินเกิดประสิทธิผลสูงสุด

กนง. มองว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น แต่ยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยในปี 67 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 2.7% และปี 68 คาดว่าจะขยายตัว 2.9% โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจาก 1. ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายต่อหัวที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี 67 จำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ ที่ 36 ล้านคน ส่วนในปี 68 จะอยู่ที่ 39.5 ล้านคน 2. การบริโภคภาคเอกชนที่แม้ชะลอลง แต่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และ 3.การส่งออกสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์และหมวดเครื่องจักร ที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามวัฏจักรสินค้าเทคโนโลยี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ในปี 68

พร้อมกันนั้น กนง.ยังมองว่า ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น เนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอน ทั้งในมิติรูปแบบและความเข้มของนโยบาย ระยะเวลาการเริ่มบังคับใช้ และมาตรการตอบโต้ของประเทศต่าง ๆ โดยในระยะสั้น การส่งออกสินค้าไทยอาจเร่งขึ้นก่อนที่นโยบายจะมีผลบังคับใช้ สำหรับในระยะปานกลาง ผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุนของไทยมีความไม่แน่นอน ขึ้นกับความเป็นไปได้ของการย้ายฐานการผลิต และความสามารถในการแข่งขันกับจีน ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดภูมิภาค นอกจากนี้ ภาคการส่งออกสินค้า อาจเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้น้อยลงกว่าในอดีต

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 67 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.4% ส่วนปี 68 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.1%ร ในระยะข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมาย สะท้อนปัจจัยด้านอุปทานรวมทั้งมาตรการภาครัฐเป็นสำคัญ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

"อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และยังช่วยให้ระดับราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไม่ปรับเพิ่มขึ้นมาก จึงมีส่วนช่วยบรรเทาค่าครองชีพ โดยเฉพาะของกลุ่มครัวเรือนที่รายได้ฟื้นตัวช้า"

ขณะที่สินเชื่อชะลอลงในช่วงที่ผ่านมาจากความต้องการลงทุนในบางสาขาธุรกิจลดลง การชำระคืนหนี้ที่กู้ยืมไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 และความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูง เช่น สินเชื่อของธุรกิจในภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยต้องติดตามผลกระทบของสินเชื่อที่ลดลงต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงผลกระทบที่อาจมีต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจโดยรวม ด้านสินเชื่อรายย่อยชะลอลง และคุณภาพสินเชื่อรายย่อยปรับด้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวช้า และภาระหนี้สูง

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ กนง.อภิปรายร่วมกัน

1. กนง.มีความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่แตกต่างกันมากขึ้น แม้ภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ แต่การผลิตและการส่งออกสินค้าบางหมวดยังเผชิญแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง โดย 1) ธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วน มีพัฒนาการแย่ลงจากการแข่งขันด้านราคารุนแรงขึ้น 2) การส่งออกสินค้าไทยได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากจีน เช่น เคมีภัณฑ์ โลหะ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

2. กนง.เห็นว่าแม้การขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจลดลง แต่เศรษฐกิจโดยรวมยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ เนื่องจากธุรกิจในภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในปี 68 มีการใช้สินเชื่อลดลง อย่างไรก็ดี ต้องติดตามคุณภาพและแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า รวมถึงนัยต่อเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมที่การแข่งขันรุนแรงขึ้น

3. กนง.เห็นว่ากระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (household debt deleveraging) ควรดำเนินต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว แต่ต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อของกลุ่มเปราะบางที่ปรับด้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่อ ที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

4. กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นในระยะข้างหน้า โดยนโยบายเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ทั้งนโยบายภาษี และนโยบายการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม จึงควรรักษาขีดความสามารถของนโยบาย เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ (robust policy) และพิจารณาผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายให้เหมาะสมกับพัฒนาการที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน เพื่อตอบสนองในช่วงเวลาที่เหมาะสมจึงมีความจำเป็นเพื่อให้นโยบายการเงินเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

"ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงิน ที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ เห็นว่าความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าปรับสูงขึ้น จึงจะติดตามพัฒนาการของแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินและพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมต่อไป" รายงาน กนง. ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ