สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ธ.ค.67 อยู่ที่ 108.28 สูงขึ้น 1.23% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากตลาดคาด 1.40% โดยมีปัจจัยหลักจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นผลจากฐานราคาต่ำในปี 67 รวมทั้งราสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 เพิ่มขึ้น 0.40%
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนธ.ค.67 อยู่ที่ 105.41 หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.79% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2567 เพิ่มขึ้น 0.56%
โดยในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ คาดเป้าหมายเงินไว้ในกรอบ 0.2-0.8% ขณะที่กรอบนโยบายการเงิน หรือเป้าหมายเงินเฟ้อ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ที่ตกลงร่วมกันไว้ อยู่ที่ 1-3%
ทั้งนี้ สนค. ตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไป สำหรับปี 2568 ไว้ในกรอบ 0.3 - 1.3% หรือมีค่าเฉลี่ยที่ 0.8% โดยมาจากสมมติฐานสำคัญ คือ 1. อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ปี 68 อยู่ที่ 2.3-3.3% ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยที่ 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ที่ 34-35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สนค. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนม.ค.68 จะยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยคาดว่าจะสูงขึ้น 1.25% และเฉลี่ยไตรมาส 1/68 สูงกว่าระดับ 1% ขณะที่ไตรมาส 2 และ 3 อัตราเงินเฟ้ออาจชะลอตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% และจะกลับขึ้นไปมากกว่า 1% อีกครั้งในช่วงไตรมาส 4/68
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยใช้ข้อมูลล่าสุดเดือนพ.ย.67 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย ยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 19 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บูรไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า จากตะกร้าสินค้าและบริการสำคัญรวม 430 รายการ ที่นำมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อนั้น หากเทียบราคาสินค้าและบริการในเดือนธ.ค.67 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ธ.ค.66) จะพบว่ามีสินค้าและบริการที่ราคาสูงขึ้น 267 รายการ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า, ปลานิล, แตงกวา, กาแฟผงสำเร็จรูป, ค่าไฟฟ้า, ค่าเช่าบ้าน และน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
ส่วนสินค้าและบริการที่ราคาลดลง 105 รายการ ได้แก่ เนื้อสุกร, ไข่ไก่, มะเขือเทศ, กะหล่ำปลี, พริกสด, มะนาว, ผักคะน้า, แชมพู, กระเทียม และสบู่ เป็นต้น ขณะที่สินค้าและบริการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 58 รายการ ได้แก่ ค่าบริการขนขยะ, รองเท้าผ้าใบสตรี, ค่าน้ำประปา, ค่าโดยสารเรือ-รถไฟ ค่าตัดผม และค่าหนังสือพิมพ์ เป็นต้น
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.3-1.3% โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งแม้จะแตกต่างจากกรอบเงินเฟ้อที่ 1-3% ในเป้าหมายนโยบายการเงิน แต่ก็ไม่ได้เป็นความขัดแย้งกัน
"รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง มองว่าอัตราเงินเฟ้อในระดับดังกล่าว ยังเหมาะสมและสอดคล้องกับเศรษฐกิจของไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ เราเก็บราคา เป็นการทำให้เห็นว่าเงินเฟ้อประเทศอยู่ที่ 0.4% (ปี 67) และปีนี้ (68) ค่ากลางอยู่ที่ 0.8% ส่วนที่เหมาะสม คือระดับ 1-3% จะมีรายละเอียดมากกว่าตัวราคา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องช่วยกันดูทั้งนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง ให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่เหมาะสม มีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เราไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกัน" นายพูนพงษ์ ระบุ
สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2568 ปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย
1.เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ทั้งการขยายตัวของการลงทุน และการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น
2. ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ ที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2567
ขณะที่ปัจจัยกดดัน ที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ประกอบด้วย
1. ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้า และการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG)
2. ฐานราคาผักและผลไม้สด ปี 2567 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เอลนีโญ และลานีญา ซึ่งในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าว จะไม่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อราคาไม่มากนัก
3. การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ จะส่งผลให้ค่าเช่าบ้าน และราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด
นายพูนพงษ์ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนม.ค.68 จะยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยคาดว่าจะสูงขึ้น 1.25% และทั้งไตรมาส 1 จะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 1% โดยมีปัจจัยสำคัญจากน้ำมันดีเซลในประเทศ ที่รัฐบาลยังตรึงราคาไว้ไม่เกินลิตรละ 33 บาท นอกจากนี้ ราคาเนื้อสุกร ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปี 67 และเครื่องประกอบอาหารบางชนิด มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น ส่งผลให้อาหารสำเร็จรูปมีราคาปรับเพิ่มขึ้นตาม
นายพูนพงษ์ กล่าวถึงผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า ระหว่างนี้ สนค. กำลังวิเคราะห์ข้อมูลการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่จะมีผลต่อระดับรายสินค้า และรายอุตสาหกรรม โดยคาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีข้อมูลที่ชัดเจน แต่เบื้องต้นคาดว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำในปี 2568 นี้ ไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ
"หากย้อนไปดูค่าจ้างปี 66 ปรับเพิ่มขึ้น 3.72% แต่เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี ที่ 1.23% ส่วนปี 67 ค่าจ้างเพิ่มขึ้น 2.42% แต่เงินเฟ้อ เฉลี่ยที่ 0.40% ส่วนปีนี้ ค่าจ้างเพิ่มขึ้น 2.9% เราคาดว่าไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ