นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum 4/67 ว่า ภาพของเศรษฐกิจไทย เมื่อมองไปข้างหน้ายังฟื้นตัวได้ตามศักยภาพในระดับปานกลาง แต่การฟื้นตัวอาจแตกต่างและไม่เท่าเทียมกันในบางจุด รวมถึงความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่คาดว่าจะสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินจะต้องมีความยืดหยุ่น และสามารถรองรับสถานการณ์ที่มีความหลากหลาย รวมถึงต้องให้ความสำคัญในการรักษากันชน (Buffer) ในด้านต่าง ๆ ไว้ และผสมผสานเครื่องมือในเชิงนโยบายให้เหมาะสมกับพัฒนาการที่เกิดขึ้นในแต่ละด้าน
นายสักกะภพ กล่าวว่า หากดูการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/67 ที่ผ่านมา ขยายตัวได้ 3% จากไตรมาสที่ 2 ที่ 2.7% เหมือนที่ธปท. มองไว้ว่า ไตรมาส 2 จะฟื้นตัวที่ 2% , ไตรมาส 3 จะฟื้นตัวที่ 3% และไตรมาส 4 ที่ 4% ซึ่งโดยภาพรวมการเติบโตจะเห็นเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ขยายตัวได้เกิน 3% ซึ่งเป็นไปตามมุมมองเดิม
สำหรับปัจจัยขับเคลื่อนหลัก มาจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกที่ดีขึ้น แม้ว่าการบริโภคจะชะลอลง เนื่องจากได้เร่งตัวไปก่อนหน้านี้ และภาคบริการยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ อย่างไรก็ดี ในแง่ภาคการผลิต จะเห็นว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทำให้อาจเห็นการฟื้นตัวได้ไม่ค่อยชัดเจน ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยในแง่การแข่งขันจากภายนอกที่สูงขึ้น รวมถึงปัจจัยเรื่องของปัญหาโครงสร้างต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ และชิ้นส่วน ที่ทิศทางแย่ลงในช่วงที่ผ่านมา
นายสักกะภพ กล่าวว่า ดังนั้น จุดใหญ่ที่ ธปท.จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยบโยบาย หรือปรับนโยบายการเงินนั้น จะอยู่บนปัจจัย 3 ด้าน คือ 1.การเติบโตเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันยังมีทิศทางฟื้นตัว และสอดคล้องกับระดับศักยภาพ 2.อัตราเงินเฟ้อไม่ได้หลุดลอยจากกรอบเป้าหมาย 1-3% โดยคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปี 68 อยู่ที่ 1.1% อยู่ในกรอบเป้าหมายทรงตัวอยู่ในขอบล่าง และ 3.เสถียรภาพระบบการเงิน จะเห็นการลดสัดส่วนหนี้ Debt Deleveraging เกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาวปรับลดลง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงระยะยาวจากสินเชื่อชะลอลง ทำให้นโยบายการเงินค่อนข้างเปิดมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง นโยบายการเงินจะต้องพร้อมรองรับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น หรืออาจเกิดขึ้นเร็วหรือช้า หรือมีผลมากและน้อย ซึ่งการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.25% เป็นระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพ และเงินเฟ้อโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และเป็นการดำเนินนโยบายแบบ Robust Policy (ยืดหยุ่น รองรับได้หลายสถานการณ์)
"หากภาพรวมเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ มีการเปลี่ยนไปกว่าที่คาดการณ์อย่างมีนัย นโยบายการเงินก็พร้อมจะปรับเปลี่ยน ภายใต้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวลักษณะ K Shape อุตสาหกรรมรถยนต์-ชิ้นส่วนยานยนต์แย่ลง แต่มีบางส่วนยังไปได้ ภาคบริการก็ยังสามารถหล่อเลี้ยงไปได้ อย่างไรก็ดี การทำสมมุติฐาน (Scenario) ของการปรับลดดอกเบี้ย จะมีปัจจัยอะไรบ้างนั้น ธปท.คงทำมากขึ้น แต่อาจจะต้องรอ "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่จะเข้ามาเริ่มงานเดือนก.พ. เพราะตอนนี้นโยบายยังไม่ชัดเจน การบังคับใช้นโยบาย ก็ไม่มีความชัดเจน หรือการตอบโต้ก็ไม่ชัดเจน หากเราเริ่มเห็นความชัดเจนการทำ Scenario สามารถทำได้ อย่างไรก็ดี เฟรมใหญ่ยังคงอยู่ที่กรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย และประสิทธิผลการทำนโยบายการเงินที่เราต้องทำอยู่แล้ว" นายสักกะภพ กล่าว
สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในปี 2568 ยอมรับว่า มีความผันผวนมากขึ้น เนื่องจากนโยบายการเงินประเทศหลัก คาดเดาได้ค่อนข้างยาก โดยเงินบาทจะมีความผันผวนสูงขึ้น โดยปัจจัยยังมาจากภายนอกเป็นหลัก
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่า ธปท. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 68 อยู่ที่ 1.1% และหากดูเงินเฟ้อระยะปานกลางเฉลี่ย 5 ปีข้างหน้า หรือในปีที่ 6-10 จากข้อมูลตลาดการเงิน พบว่าค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.7-1.8% ยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบ
ส่วนที่ว่าต้องเห็นอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์อยู่ในระดับใด ธปท.จึงจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินนั้น มองว่า จากข้อมูลตลาดการเงินหากอัตราเงินเฟ้อแกว่งตัว +/- แบบ Sideway ก็ไม่น่ากังวล แต่หากการแกว่งไปในทิศทางเดียว อาจจะกังวล เนื่องจาก ธปท.จะดู Dynamic ของอัตราเงินเฟ้อ หากเกิด Price Shock ในสินค้าใดสินค้าหนึ่ง และมีการกระจายไปยัง Supply chain ด้วย จะเป็นสิ่งที่ ธปท.พิจารณา นอกจากเงินเฟ้อระยะปานกลาง
ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวม ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางมี 3 เรื่อง คือ 1.ความต้องการ (Demand) ลดลง ภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ขนส่งผู้โดยสาร ใช้สินเชื่อน้อยลง เพราะรายได้ดีขึ้น 2.ความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในลักษณะ K Shape ทำให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ และ 3.การชำระหนี้คืน หลังจากปล่อยไปในช่วงโควิด-19
ดังนั้น จุดยืนของนโยบายการเงินที่ระดับ 2.25% ถือเป็นจุดยืนที่เป็นกลาง สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวในปลายปีนี้ และต้นปีหน้า และจุดยืนยังสอดคล้องกับระบบการเงิน สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ทยอยลดลงแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ในบริบทที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนนโยบายการเงินจะต้องพร้อมรองรับเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือนโยบายแบบ Robust Policy และสอดคล้องกับเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะสั้นและระยะยาว
"หากเราปรับลดดอกเบี้ยวันนี้ เราจะสูญเสียการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน หรือ Policy Space และผลประโยชน์ (Benefit) จะจำกัด เพราะการปรับลดดอกเบี้ย จะส่งผลต่อเศรษฐกิจจำกัด ในภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง เพราะธุรกิจมีความลังเลในการจ้างงานและลงทุน เพราะมี Fixed Cost ดังนั้น ประสิทธิผลของนโยบายจะลดลง" นายสุรัช ระบุ
ด้านนายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งยุโรป และเยอรมัน จะเห็นว่ามีการประกาศปิดโรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ โดยยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ยังคงมีความท้าทาย และมีผลกระทบต่อไทย แม้ว่าในแง่มูลค่าต่อ GDP ไม่สูงมาก แต่ในแง่จำนวนแรงงาน อาจจะมีสูงกว่า 1 ล้านคน ซึ่งอาจจะเกิดผลกระทบในรอบที่ 2 และ 3 ตามมา จึงเป็นสิ่งที่ ธปท.ต้องจับตา และเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมหนึ่ง ซึ่งในเชิงนโยบายมหภาคก็มีขอบเขตการดูแลธุรกิจเฉพาะ
ทั้งนี้ ตัวเลขสินเชื่อเช่าซื้อ คาดการณ์ว่าตัวเลขจริงในปี 2567 จะออกมาติดลบ หลังจากข้อมูลจริงในไตรมาสที่ 3/67 หดตัว -7.7% โดยในปี 68 สถานการณ์อาจจะปรับดีขึ้นบ้าง แต่ก็อาจจะขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมยานยนต์ว่าจะปรับตัวดีขึ้นได้เพียงใด ซึ่งมีสัญญาณบางอย่างเริ่มทรงตัว ทั้งราคารถมือสอง และยอดขายรถที่เริ่มดีขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. จะใช้ "Data Dependent" หรือ "Outlook Dependent" เป็นหลักนั้น นายปิติ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายของธนาคารกลาง จะดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และข้อมูลใหม่อันเป็นประโยชน์ที่เข้ามา ซึ่งการพิจารณาปรับนโยบายการเงินทันทีที่ได้ข้อมูลใหม่เข้ามา ก็อาจจะเป็น Noise ได้ ดังนั้น ธปท.จะพิจารณา Outlook และประเมินไปในระยะข้างหน้าในการปรับเปลี่ยน โดย ธปท.จะใช้ Data ในการเอามาย่อยเพื่อปรับนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า
นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 68 คาดว่าจะเติบโต 2.9% ซึ่งแม้จะขยายตัวได้ แต่ก็ยังมีความท้าทาย โดยปัจจัยบวกมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เงินโอน 10,000 บาท และมาตรการ "Easy E-Receipt" และภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 39.5 ล้านคน อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาภาวะสินเชื่อตึงตัว ที่อาจจะกระทบเศรษฐกิจภาพรวมได้
ขณะที่ความเสี่ยงจากนโยบายใหม่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ผ่านนโยบายการลดภาษี การตั้งกำแพงภาษี พลังงาน และผู้อพยพ ซึ่งจะกระทบ 1.ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ 2.ปริมาณการค้าโลกชะลอตัว หากมีการตอบโต้เกิดขึ้น และ 3.เงินเฟ้อโลกและสหรัฐฯ สูงขึ้น ดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีแนวโน้มคงอยู่ในระดับสูง ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าในระยะสั้น
โดยผลกระทบต่อไทยจะผ่าน 3 ช่องทาง คือ 1.สินค้าไทยต้องแข่งขันกับจีนมากขึ้น (China Flooding) 2.การลงทุน จะเห็นการย้ายฐานการผลิตมาไทย และอาเซียนมากขึ้น และ 3.การเชื่อมโยงระหว่างไทยและจีน หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว อาจมีผลต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย
"ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย หากทรัมป์ มีนโยบายกีดกันทางการค้า จะมีสินค้าจีนทะลักเข้ามาไทยมากขึ้น ซึ่งไทยนำเข้าสินค้าจีนสูงกว่าประเทศอื่น ส่วนการบริโภคสินค้านั้น ไทยและจีนเชื่อมโยงกัน แม้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศจะขยายตัวได้ แต่เห็นว่ามีหลาย sector ที่ชะลอตัวและติดลบ เพราะมีการนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งเป็นความเสี่ยงหากมาตรการกีดกันทางการค้ารุนแรงขึ้น ก็อาจเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยได้" น.ส.ปราณี กล่าว