นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก คาดส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค.67 ขยายตัวได้กว่า 4.5% ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการผลักดันการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้าย ส่งผลให้การส่งออกทั้งปี 67 ขยายตัวได้ 4.5-5% เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้
"ยอดส่งออกเดือนธันวาคมน่าจะสูงเกิน 4.5% ถ้าทำยอดได้ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งออกทั้งปี 67 ก็จะโต 4.5% แต่ถ้าทำยอดได้ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งออกทั้งปี 67 ก็จะโตได้ 5%" นายชัยชาญ กล่าว
ส่วนเป้าหมายการส่งออกในปี 68 กำหนดไว้กว้าง ๆ ว่าจะขยายตัว 1-3% เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงมาก ทั้งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความรุนแรงเรื่องสงครามการค้า ซึ่งต้องจับตาดูท่าทีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่หากต้องการให้ยอดส่งออกปี 68 ขยายตัวได้ 2-3% ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกันมากขึ้น
"ปี 67 ถือว่าสอบผ่าน แต่ปี 68 โจทย์ยากมากขึ้น ต้องทำงานร่วมกันอย่างหนักมากขึ้น ซึ่งสภาผู้ส่งออกได้นำเสนอให้ รมว.พาณิชย์ รับไปพิจารณาแล้ว" นายชัยชาญ กล่าว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญในปี 68 ที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ได้แก่
1.Trade War (Trump 2.0)
- ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าซึ่งอาจส่งผลทั้งด้านบวกและลบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงไทย
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดึงนักลงทุนกลับประเทศและมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความร้อนแรง มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ปรับประมาณการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 4 ครั้งเหลือ 2 ครั้งในปีหน้า
- แนวทางการลด/ยกเลิกความเข้มงวดของมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบ
2.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องของการอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้าทางทหารในทะเลจีนใต้ ประกอบกับสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง และรัสเซีย-ยูเครนที่ยังหาข้อยุติไม่ได้
3.ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน จากปัจจัยภายในรวมถึงเงินเฟ้อและนโยบายการค้าประธานาธิบดีสหรัฐฯ
4.ต้นทุนของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น
- การปรับขึ้นค่าแรงงาน ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและการขนส่ง
- ทิศทางราคาน้ำมันและต้นทุนพลังงานในตลาดโลกมีความผันผวนจากความเสี่ยงหลายประการ
5.สถานการณ์การขนส่งทางทะเล สถานการณ์ค่าระวางมีการปรับตัวสูงขึ้น จากการเร่งส่งออกตลาดไปยังสหรัฐฯ และปัญหาทะเลแดงที่ยังมีอิทธิพลต่อการส่งออกไปสหภาพยุโรปและตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อภาครัฐ ดังนี้
1) ผลักดันให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน กระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พณ.) รายไตรมาส เพื่อติดตามสถานการณ์ความผันผวนการค้าระหว่างประเทศ
2) เพิ่มเติมงบประมาณด้านการกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ทั้งในประเทศคู่ค้าหลักและตลาดเกิดใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า รองรับการบิดเบือนตลาดจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐอเมริกา เพื่อบรรลุเป้าหมายส่งออก 2-3% ในปี 2568
"การหวังกินบุญเก่าจากตลาดเดิมคงจะไม่ได้ ต้องเร่งหาตลาดใหม่ พร้อม ๆ ไปกับการรักษาตลาดเดิมไว้ เพราะปัญหามีความซ้ำซ้อนเพิ่มมากขึ้น มีอุปสรรคจากการออกกฎระเบียบใหม่ที่ไม่ใช่เรื่องของภาษี" นายชัยชาญ กล่าว
ประธาน สรท. กล่าวว่า ภาวะการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี 68 น่าจะยังได้รับแรงส่งต่อจากช่วงไตรมาส 4 ของปี 67 อย่างน้อยน่าจะมีมูลค่าราว 7.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1-2% แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงด้วย ซึ่งไม่รู้ว่าสถานการณ์หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้วจะเป็นอย่างไร ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.68 ก็ต้องเร่งส่งออก เพื่อให้ทันกับเทศกาลตรุษจีน และช่วงถือศีลอดที่มาเร็ว โดยมีสินค้าหมวดอาหารและชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์เป็นสินค้าหลัก
"เมื่อผลงานออกมาดี ภาครัฐก็ควรจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการเรื่องการส่งเสริมการส่งออกให้มากขึ้น" นายชัยชาญ กล่าว