นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 จำนวน 3.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% จากปีงบประมาณ 2568 โดยคาดการณ์รายได้รัฐบาลสุทธิ 2.92 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 8.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.3% ของ GDP ซึ่งเป็นการขาดดุลงบประมาณที่ลดลงจากปี 2567
การจัดทำกรอบงบประมาณดังกล่าว อยู่ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยปี 2569 ขยายตัวได้ 2.3-3.3% (ค่ากลาง 2.8%) อัตราเงินเฟ้อ 0.7-1.7% (ค่ากลาง 1.2%)
ทั้งนี้ โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 จำนวน 3.78 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย
- รายจ่ายประจำ 2.64 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 70% ของวงเงินงบประมาณ
- รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 1.23 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.3% ของวงเงินงบประมาณ
- รายจ่ายลงทุน 8.6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.7% ของวงเงินงบประมาณ
- รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 1.51 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.0% ของวงเงินงบประมาณ
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2569 ยังคงดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณ เพื่อมุ่งเน้นการดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ทั้งปัญหาหนี้สิน รายได้ และค่าครองชีพ ตลอดจนสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ส่งเสริมการท่องเที่ยว และพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางรากฐานของประเทศไทยให้เกิดความเท่าเทียมและยั่งยืน
อย่างไรก็ดี ได้ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ปฏิบัติตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 69-72) อย่างเคร่งครัด ดังนี้
1. ให้กระทรวงการคลัง จัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เทียบเคียงการดำเนินการกับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใกล้เคียงกับไทย
2. ให้หน่วยรับงบประมาณ ใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากที่สุด เพื่อให้มีความคุ้มค่า ประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้เสนอขอรับเท่าที่จำเป็น โดยให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนของภาครัฐ
3. ส่วนราชการ และหน่วยงานรัฐ ที่มีเงินนอกงบประมาณ เงินรายได้ หรือเงินสะสม ให้นำเงินมาใช้ดำเนินโครงการ/ภารกิจในความรับผิดชอบเป็นลำดับแรก
4. ให้ทุกกระทรวงและรัฐวิสาหกิจ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ และให้พิจารณาการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชน และนักลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น
ด้านนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า กรอบงบประมาณปี 2569 ที่ ครม.เห็นชอบนี้ เป็นไปตามที่ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงบประมาณ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบ โดยมีการขาดดุลงบประมาณลดลง 5 พันล้านบาท กรอบงบประมาณรวมเพิ่มขึ้น 2.7 หมื่นล้านบาท และจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้ง 4 หน่วยงานต่างมองว่า งบประมาณในระดับนี้ เหมาะสมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป
หลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนและกระบวนการตามกฎหมาย โดยทางกระทรวงการคลังจะต้องดูการจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำนักงบประมาณต้องดูในเรื่องของการใช้จ่ายให้เหมาะสม และ ธปท. ก็มีหน้าที่ต้องไปดูเงินเฟ้อให้ได้ตามกรอบเป้าหมาย 1-3% และให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างรมว.คลังกับผู้ว่าการ ธปท. ที่จะทำให้เงินเฟ้อเข้าใกล้ 2% ตามที่ตกลงไว้ โดยเรื่องนี้ต้องให้เวลาที่ ธปท.จะทำให้เงินเฟ้อเข้ากรอบ และมีค่ากลางที่ 2%
นอกจากนั้น ในข้อตกลงระหว่างกระทรวงการคลัง และ ธปท. ยังมีการกำหนดด้วยว่า ธปท.จะต้องดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับเหมาะสมที่จะทำให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้ ซึ่งต้องให้เวลาเช่นเดียวกัน