รมว.คลัง ชี้เศรษฐกิจไทย 2568 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง มั่นใจ GDP โตเกิน 3%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 8, 2025 11:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.คลัง ชี้เศรษฐกิจไทย 2568 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง มั่นใจ GDP โตเกิน 3%

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "Thailand is Ready for the Challenges" ในงานวันนักการตลาดแห่งประเทศไทยว่า ปี 2568 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทย โดยมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะมีโอกาสขยายตัวได้มากกว่า 3% ซึ่งถือเป็นความท้าทาย และเป็นโอกาสจากความต่างที่จะต้องเร่งหยิบฉวยจากปัจจัยต่าง ๆ แม้ว่านักวิเคราะห์, ธนาคารโลก (World Bank) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ไม่เกิน 3%

ทั้งนี้ ได้เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจแล้ว สะท้อนจากตัวเลขการบริโภคภาคเอกชน ในช่วง 3 ไตรมาสของปีที่ผ่านมา ขยายตัวถึง 5.1%, การลงทุนภาคเอกชน จากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในช่วง 9 เดือน ของปี 2567 อยู่ที่ราว 7 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่การลงทุนภาครัฐ ได้มีการเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ทั้งการต่อยอดจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ไปสู่อีอีซี, โครงการรถไฟทางคู่, โครงการรถไฟความเร็วสูง, โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการท่าเหลือแหลมฉบัง เฟส 3 ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลต้องต่อยอดให้ได้ เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน จากโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ตอบโจทย์ จนส่งผลให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์แพง ซึ่งกระทบกับภาคการส่งออกให้ขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเร่งพัฒนาเพื่อรองรับภาคธุรกิจสีเขียวอีกด้วย

"ปีนี้ จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยเปลี่ยน หลังจากที่เราอยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจเดิม ความคุ้นเคยเดิมมาตลอด รัฐบาลได้เข้ามาปรับปรุง ปรุงแต่ง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้เราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยในไตรมาส 4/2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เกินกว่า 3% อย่างแน่นอน และเมื่อรวมทั้งปี 2567 ยังมั่นใจว่า GDP ของไทยจะเติบโตที่ราว 2.7-2.8% ถือเป็นก้าวที่เปลี่ยนไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2568 ด้วย" รองนายกฯ และรมว.คลัง ระบุ

สำหรับประเด็นที่ไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะถัดไป คือ

  • ภาคการส่งออก ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยสินค้าส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ คือ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูป สะท้อนว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ ในระยะถัดไปควรได้รับการเปลี่ยนผ่าน ดังนั้นจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องมองหาจุดแข็งใหม่ ๆ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่มือผู้บริโภค และตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ตั้งแต่ต้นน้ำ ว่าจะส่งผ่านไปช่องทางไหน จะขายใคร และขายอย่างไร
  • ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้เป็นอย่างดี และถือเป็นจุดแข็งตามธรรมชาติของเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2568 ตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 39.8 ล้านคน จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 35-36 ล้านคน แต่สิ่งที่รัฐบาลอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของภาคการท่องเที่ยว คือ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ใช้เวลาท่องเที่ยวในไทยนานขึ้น และใช้เงินมากขึ้น อาจจะต้องชูเรื่องการท่องเที่ยวควบคู่กับการรักษาสุขภาพให้เป็นจุดขาย เพราะสอดคล้องกับความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขของประเทศ และพัฒนาให้กลายเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของไทย
*อุปสรรคและความท้าทายในปี 2568

สำหรับอุปสรรคและความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 คือ ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ถือเป็นความเสี่ยง และความน่ากังวล เพราะเป็นการต่อสู้ของเศรษฐกิจจากประเทศมหาอำนาจ ที่ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิต ซึ่งไทยควรหยิบฉวยโอกาสนี้ รวมถึงต้องเร่งเพิ่มทักษะของแรงงาน เพื่อรองรับเศรษฐกิจใหม่ แพลตฟอร์มใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ โดยเฉพาะเรื่องคลาวน์ และดาต้าเซ็นเตอร์ รวมถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยจะต้องพยายามพัฒนาเพื่อให้กลายเป็น HUB ของด้านนี้ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน

รวมถึงต้องมองหาโอกาสจากตลาดใหม่ ๆ อย่างอินเดีย จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และเหมาะสมกับบริบทของอินเดียมากขึ้น จนทำให้กลายเป็นทั้งผู้คิด ผู้ผลิต และผู้ส่งออก ซึ่งไทยจะต้องไปดูว่าจะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ตลอดจนความท้าทายจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่แม้จะมีคำถามว่าอีวีจะไปได้เร็วและสุดทางหรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดหาก EV ยังไปได้ ไทยจะต้องเร่งพัฒนาเพื่อให้กลายเป็นฐานการผลิต EV ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

นายพิชัย กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลัง จะต้องมีการทบทวนระบบภาษีทั้งหมด ว่าอะไรจะเป็นมาตรการจูงใจและเป็นมาตรการเชิงรุก เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน สนับสนุนแหล่งเงินลงทุน โดยเฉพาะรายย่อย สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านการใช้เงินนอกงบประมาณ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน การรักษาวินัยการเงินการคลัง ตลอดจนการใช้และหารายได้ของภาครัฐจะต้องสอดคล้องกัน การขาดดุลการคลังในระดับที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ สัดส่วนหนี้สาธารณะจะต้องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และลดลงได้ในเวลาอันใกล้

"รัฐบาลพร้อมรับฟังและติดตาม พร้อมทั้งเป็นแรงส่งในทุกมิติให้กับภาคธุรกิจ โดยรัฐบาลและประชาชน ต้องจับมือไปด้วยกัน ซึ่งรัฐบาลมั่นใจว่าเศรษฐกิจปีนี้จะดีแน่นอน ถ้าเรามั่นใจและทำให้ดี เพราะไทยมีศักยภาพสูง location ดี มีทรัพยากร" นายพิชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ