SCB มองแนวโน้มบาท H1/68 อ่อนค่าแตะ 35.50 แต่มีลุ้นพลิกแข็งค่าใน H2

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 8, 2025 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SCB มองแนวโน้มบาท H1/68 อ่อนค่าแตะ 35.50 แต่มีลุ้นพลิกแข็งค่าใน H2

นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ [SCB] เปิดเผยว่า ในปี 2568 นี้ สินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐ น่าจะมีผลตอบแทนเป็นบวกอีกได้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวดีกว่าประเทศหลักอื่น สะท้อนจากเลขเศรษฐกิจ ทั้งตลาดแรงงาน และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) น่าจะลดดอกเบี้ยช้าลง โดยคาดว่าจะลดดอกเบี้ยอีกเพียง 50 bps ในปีนี้ สอดคล้องกับใน Dot plot ล่าสุดของ Fed และที่ตลาด Price-in ซึ่งจะน้อยกว่าในปี 256 ที่ Fed ลดดอกเบี้ยถึง 100 bps

SCB มองแนวโน้มบาท H1/68 อ่อนค่าแตะ 35.50 แต่มีลุ้นพลิกแข็งค่าใน H2
* คาดดัชนีเงินดอลลาร์ ยังแข็งค่าต่อได้ในช่วง H1/68

แม้เงินจะแข็งค่าขึ้นมากแล้วในปีก่อน เนื่องจากตลาดอาจยังอยู่ในโหมด Wait-and-see ซึ่งจะหนุนให้เงินดอลลาร์ต่อได้ อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลัง เงินดอลลาร์สหรัฐอาจกลับมาอ่อนค่าจาก Valuation ที่สูงมากแล้ว และเงินทุนที่อาจไหลออกจากสหรัฐฯ สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ นายแพททริก มองว่า Treasury yields ปรับลดลงอีกเล็กน้อย ตามการลดดอกเบี้ยของ Fed และ Curve มีแนวโน้มชัน (Steepen) ขึ้น จาก Yields ระยะสั้นที่ลดลงมากกว่า

SCB มองแนวโน้มบาท H1/68 อ่อนค่าแตะ 35.50 แต่มีลุ้นพลิกแข็งค่าใน H2

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้จะปรับสูงขึ้นมามากในปีที่แล้ว แต่ยังมองว่ามีโอกาสปรับสูงขึ้นได้อีกเล็กน้อย นำโดยกลุ่มเทคโนโลยีที่น่าจะได้มีการใช้ AI มากขึ้น (Adoption) และกลุ่มอื่น ๆ ที่จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการดูแล (Regulation) ที่มีแนวโน้มเข้มงวดน้อยลง เช่น กลุ่มธุรกิจการเงิน

*เงินยูโร-เงินหยวน แนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องในปีนี้

โดยเงินยูโรอาจอ่อนค่า จากเศรษฐกิจยุโรปที่น่าจะยังอ่อนแอจากภาคการผลิตที่หดตัว การแข่งขันจากประเทศจีนที่สูงขึ้น มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่อาจลดลง ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ และความเสี่ยงจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ทำให้ธนาคารกลางยุโรป ECB) จะยังลดดอกเบี้ยลงแรงได้ โดยนายแพททริก มองว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยอีกต่อเนื่องถึง 125 bps ในปีนี้ ซึ่งอาจทำให้เงินยูโรอาจลงไปใกล้ระดับ 1.00 ยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นปี

สำหรับเงินหยวนจะยังอ่อนค่าลงต่อ แม้ทางการจีนน่าจะออกมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม โดยคาดว่าอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ Required reserve ratio ลง อีกทั้งทางการอาจใช้มาตรการที่เน้นกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น โดยได้ตั้งเป้าขาดดุลการคลังสูงขึ้น และคาดว่าจะออกพันธบัตรรัฐบาลกลาง และท้องถิ่นเพิ่ม เพื่อสนับสนุนโครงการต่างมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนน่าจะยังอ่อนแอจากความเสี่ยงหลายด้าน อีกทั้งทางการจีนอาจตั้งใจปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าขึ้น เพื่อเป็น Cushion ต่อการส่งออกที่มีแนวโน้มแย่ลง จึงมองว่าเงินหยวนมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 7.50 หยวน/ดอลลาร์ ภายในสิ้นปีนี้

* จับตา "เงินเยน" สกุลหลักเดียวที่แนวโน้มกลับมาแข็งค่าใน Q2/68

เงินเยน อาจเป็นเพียงสกุลหลักเดียว ที่มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงไตรมาส 2 จากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) หากเงินเฟ้อ และค่าแรงญี่ปุ่นยังสูงตามที่คาด นอกจากนี้ มาตรการของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นจำกัด เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่กว่า 39 ล้านล้านเยน เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ รวมถึงคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงาน

ทั้งนี้ ในระยะสั้นหรือช่วงไตรมาสแรก เงินเยนน่าจะยังอ่อนค่าจากดัชนีเงินดอลลาร์ที่ยังแข็งค่า ตามนโยบาย Fed ที่จะยังค่อนข้างตึงตัว (Hawkish) และกว่าที่ BOJ จะขึ้นดอกเบี้ยได้ อาจต้องรอถึงเดือน เม.ย. เพื่อรอดูแนวโน้มการขึ้นค่าแรง (Shunto) ในประเทศ

* เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วง H1/68

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ [SCB] เปิดเผยว่า เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งแรกของปี จากดอลลาร์ที่ยังแข็งค่า และนโยบายการเงินไทยที่ผ่อนคลายขึ้น โดยแรงกดดันด้านอ่อนค่า อาจมาจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าตามธีม US Exceptionalism ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งกว่าประเทศหลักอื่น อีกทั้งเงินบาทจะยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าจากสกุลเงินอื่น เช่น เงินยูโรและเงินหยวน ทำให้บาทอ่อนค่าตาม

สำหรับปัจจัยในประเทศที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าต่อได้ มาจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่โตชะลอลง ตามการบริโภคและส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอ จึงมองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าไปแตะระดับ 35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ดี มองว่ามีโอกาสที่เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงครึ่งปีหลัง หากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะทำให้เงินไหลออกจากสหรัฐฯ ได้ ประกอบกับ Valuation ของเงินดอลลาร์ที่สูงมากแล้ว อีกทั้งมองว่าราคาทองอาจปรับสูงขึ้นได้ต่อ ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าที่กรอบ 33.50-34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ