นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวชี้แจงสาเหตุของการที่ช่วงนี้หลายโครงการถูกสั่งทบทวน สั่งระงับ ไม่ว่าจะเป็นการระงับการจัดซื้อจัดจ้างการขุดและขนลิกไนต์ด้วยวิธีพิเศษมูลค่า 7,250 ล้านบาท ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การระงับกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การระงับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเฟสสองจำนวน 3,600 เมกะวัตต์ อาจสร้างความเป็นห่วงว่าจะกระทบต่อค่าไฟ ทำให้การดำเนินการของ กกพ.ชะงัก หรือส่งผลกระทบต่อการจัดหาไฟฟ้าสะอาดที่ไม่เพียงพอและไม่ทันการณ์หรือไม่
รมว.พลังงาน ระบุว่า ทุกเรื่องเพิ่งเกิดขึ้นไล่ๆ กันในช่วงนี้เท่านั้น ไม่ใช่เกิดมานานแล้วเพิ่งมาสั่ง เข้าใจถึงเรื่องความจำเป็นรีบเร่ง แต่ความรีบเร่งไม่ใช่ว่าทำให้สามารถทำอะไรที่อาจไม่ถูกต้องได้ กรณีของปัญหาการประมูลขุดถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ไม่ใช่เพิ่งจะทำ ทำกันมานานแล้ว เมื่อทราบเรื่องก็กำชับไปว่าให้ทำให้ถูกต้อง ผิดพลาดขึ้นมามีการร้องเรียนแล้วจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความล่าช้า
"ใครชนะใครแพ้ใครได้งาน ไม่ใช่เรื่องของผม แต่กระบวนการและขั้นตอนต้องถูกต้องโปร่งใส ผมเข้าใจดีถึงสาเหตุและความจำเป็นที่ต้องเร่งรีบในการดำเนินการของทุกหน่วยงาน แต่ความเร่งรีบมันต้องทำให้โปร่งใสด้วย สุดท้ายก็มีการร้องเรียนจริงๆ ถ้ากลัวความล่าช้าทำไมไม่ทำให้ถูกต้องโปร่งใสแต่แรกจะได้ไม่มีการร้องเรียน พอทำผิดพลาดมีการร้องเรียนมาอ้างความล่าช้า ผมเป็นรัฐมนตรีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องกำกับดูแลให้ กฟผ. ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและมีอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริงต่างๆ รัฐบาลมีนโยบายไม่ให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบ เมื่อมีผู้ร้องเรียนผมไม่ดำเนินการผมก็มีความผิดเอง"
ส่วนเรื่องการสรรหากรรมการ กกพ. เมื่อสำนักงานคณะกรรมการ กกพ.ดำเนินการไปก็มีการแจ้งมาว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบที่ใช้อยู่ก็ไม่สอดคล้องกับกฎหมายปัจจุบัน ซึ่งเคยกำชับให้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ก็ได้รับแจ้งว่าหารือแล้ว พอมีการแจ้งมาถึงความผิดพลาดสอบถามอีกทีบอกว่าไม่ได้สอบถามกฤษฎีกา แล้วจะให้ทำอย่างไร
ขณะที่การประมูลไฟฟ้าพลังงานสะอาด 3,600 เมกะวัตต์นั้น เป็นเรื่องเดิมตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 ก่อนที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีพลังงาน เมื่อเข้ามาก็ไม่เคยมีเรื่องนี้มาหารือกันในที่ประชุม กพช. เลย ทั้งตนเองและนายกรัฐมนตรี ที่เป็นประธาน กพช. ทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน และ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร จึงไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน
ต่อมาประมาณกลางปี 2567 ปลัดกระทรวงพลังงาน และฝ่ายเลขาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีตนเองเป็นประธาน ซึ่งเป็นเหมือนคณะอนุกรรมการของ กพช. ก็นำเรื่องมาหารือว่าจะต้องมีการประมูลพลังงานไฟฟ้าสะอาด 1,500 เมกะวัตต์ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ให้ผู้ที่เคยเข้าประมูลไฟฟ้าพลังงานสะอาดโครงการแรก 5,000 เมกะวัตต์แต่ไม่ได้งานให้เป็นผู้มีสิทธิได้งานส่วนนี้ แต่เห็นว่าควรจะเปิดประมูลใหม่มากกว่า จึงเห็นด้วยและให้นำเรื่องเข้าที่ประชุม กพช. แต่รับแจ้งว่าเรื่องนี้ กพช. มอบอำนาจให้ กบง. พิจารณาได้เลย
ดังนั้น จึงนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กบง. ต่อมาทราบว่า 1,500 เมกะวัตต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของ 3,600 เมกะวัตต์ ที่ถูกแบ่งเป็นสองส่วนคือ 2,100 เมกะวัตต์ กับ 1,500 เมกะวัตต์ โดยในส่วน 2,100 เมกะวัตต์คณะกรรมการ กพช. มีมติให้ กกพ. นำไปดำเนินการโดยให้สิทธิแก่ผู้ที่ไม่ได้งานในส่วน 5,000 เมกะวัตต์แรก ซึ่ง กกพ. ดำเนินการไประดับหนึ่งแล้วแต่ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ จึงเกิดข้อสงสัยว่าถ้า 1,500 เมกะวัตต์ กับ 2,100 เมกะวัตต์ มาจาก 3,600 เมกะวัตต์ เหมือนกัน ก็ควรกำหนดเงื่อนไขเหมือนกัน ในเมื่อ 1,500 เมกะวัตต์กำหนดใหม่ให้เปิดประมูลใหม่ และส่วนของ 2,100 เมกะวัตต์ ยังไม่เสร็จสิ้น ทำไมไม่แก้ไขให้หลักเกณฑ์เหมือนกัน และเหตุใดจึงต้องแบ่งเป็น 2,100 เมกะวัตต์ กับ 1,500 เมกะวัตต์ พยายามสอบถามทุกๆ ฝ่ายแต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน
"ผมก็กำลังจะแก้ไขปัญหานี้ พอดีกับที่ฝ่ายค้านถามกระทู้เรื่องนี้ ผมจึงตอบไปว่ากำลังดำเนินการอยู่ ก็มีคนทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายกฯ แพทองธาร ในเรื่องนี้ต่ออีก นายกฯ แพทองธาร ก็มาคุยกับผม และมอบให้ผมตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าจะดำเนินการหรือแก้ไขปัญหาอย่างไร ผมจึงมีหนังสือแจ้งไปทาง กกพ. ให้หยุดเรื่องนี้ไว้ก่อน แม้อำนาจเต็มจะอยู่ที่ กพช. กับ กกพ. แต่ผมก็ต้องลงมือทำอะไรบางอย่างก็เท่านั้น"
ต่อมาเมื่อทาง กกพ. เดินหน้า โดยอ้างว่าเป็นอำนาจของ กพช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นายกฯ ก็มาหารือว่าท่านคิดว่าเรื่องนี้คงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกันก่อน เมื่อมีการประชุม กพช. ในวันที่ 24 ธันวาคม 2567 นายกฯ จึงบอกว่าจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม กพช. ด้วย แต่นายกฯ เกิดติดภารกิจด่วน จึงมอบให้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม กพช. แทน และบอกให้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กพช. เพื่อให้ทางการไฟฟ้าทั้งสามแห่งชะลอการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้า 2,100 เมกะวัตต์ และให้หารือกฤษฎีกาถึงกรอบอำนาจของ กพช. ในเรื่องนี้ เรื่องก็มีเท่านี้
สรุป คือเรื่องนี้เกิดมาก่อนรัฐบาลนายกฯ เศรษฐาและนายกฯ แพทองธาร แต่รัฐบาลปัจจุบันต้องรับผิดชอบทั้งๆ ที่ไม่รู้ความเป็นมาเลย ก็ต้องชะลอเรื่องและตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็เดินหน้ากันต่อก็เท่านั้น