ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ซีรีส์วาย ธุรกิจสื่อบันเทิงไทยที่น่าจับตา หนึ่งในปรากฏการณ์ที่กำลังเป็นกระแสมาแรงในยุคแห่งความเท่าเทียม ซึ่งไม่ได้เป็นกระแสเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ยังโกอินเตอร์ไปในระดับโลกด้วย อีกทั้ง ความนิยมของซีรีส์วายยังมีแนวโน้มยกระดับความแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การผลิตคอนเทนต์สายวายกลายเป็นธุรกิจที่ผลักดันให้ธุรกิจสื่อบันเทิงไทยเดินหน้าเติบโตได้ไกลกว่าเดิมในระยะข้างหน้า
SCB EIC คาดว่า สัดส่วนของซีรีส์วายต่อมูลค่าการผลิตสื่อบันเทิงของไทย จะเพิ่มขึ้นจาก 0.7% ในปี 62 เป็น 3.9% ในปี 68 หรือเติบโตราว 17%YOY คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 4,900 ล้านบาท ตามกระแสความนิยมของภาพยนตร์และซีรีส์วายที่เพิ่มขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่ผู้ชมสามารถเข้าถึงสื่อบันเทิงของไทยได้ง่ายผ่านทางออนไลน์จากบริการ OTT (Over The Top) หรือสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ซึ่งทำให้ซีรีส์วายกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจสื่อบันเทิงไทย มีโอกาสเติบโตได้อีกต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ซีรีส์วายเป็นกระแสมาแรงในไทย และขยายความนิยมไปในต่างประเทศ ได้แก่
1. การแสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครได้อย่างเปิดเผย จากวัฒนธรรมไทยที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และเปิดกว้างให้กับการแสดงออกถึงตัวตนของทุกเพศวัย
2. การสร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อเรื่องแปลกใหม่ โดยผู้ผลิตซีรีส์วายไทยได้สร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่าง และมีคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเนื้อเรื่อง บทละคร และเทคนิคการถ่ายทำ จึงทำให้ซีรีส์วายไทยในทุกวันนี้มีตัวเลือกที่หลากหลาย และน่าติดตามมากขึ้น
3. ความนิยมของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ทำให้ซีรีส์วายไทยเข้าถึงกลุ่มผู้ชมเป้าหมายในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบัน ไทยมีภาพยนตร์ ซีรีส์ และเรื่องสั้น Boy love/ Girl love ที่ออกอากาศรวมแล้วมากกว่า 340 เรื่อง โดยในปี 67 ไทยถือเป็นผู้นำตลาดภาพยนตร์และซีรีส์วายด้วยสัดส่วนที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของซีรีส์วายที่ออกอากาศทั้งหมดในเอเชีย
ขณะเดียวกัน ความสำเร็จของซีรีส์วายไทย ก็สร้างโอกาสให้กับธุรกิจอื่นเกาะกระแสเติบโตตามไปด้วย การตอบรับที่ดีของซีรีส์วายไทยในหลายประเทศได้สร้างโอกาสให้ธุรกิจอื่นเติบโตไปพร้อมกับซีรีส์วาย เช่น
- ธุรกิจหนังสือ เนื่องจากซีรีส์วายหลายเรื่องถูกดัดแปลงมาจากนิยายหรือการ์ตูน จึงทำให้นักอ่านนิยายเดิมสนใจอ่านนิยายวายมากขึ้น และยังดึงดูดให้ผู้ชมซีรีส์หันมาอ่านนิยายและการ์ตูนต้นฉบับเพิ่มมากขึ้นด้วย
- ธุรกิจต่อเนื่องจากการโปรโมตซีรีส์วาย เช่น กิจกรรมแฟนมีต คอนเสิร์ต และงานเปิดตัวซีรีส์ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ MICE, ธุรกิจให้เช่าสถานที่จัดงาน และการผลิตสินค้าและของที่ระลึกจากซีรีส์
- ธุรกิจโฆษณา เนื่องจากนักแสดงวายหลายคนกลายเป็น Influencer ของแฟนคลับจากผู้ติดตามที่สูงกว่า 1 ล้านคน จนทำให้แบรนด์สินค้าทุ่มเม็ดเงิน เพื่อดึงนักแสดงวายมาเป็น Presenter/ Brand ambassador สินค้ามากขึ้น รวมถึงสื่อโฆษณานอกบ้านอย่างป้ายโฆษณา ยังถูกนำมาเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับสื่อสารระหว่างแฟนคลับกับนักแสดงด้วย
- ธุรกิจอื่นที่ได้อานิสงส์จาก Soft power ซีรีส์วาย เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวอย่างโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า สถานที่ท่องเที่ยว และสายการบิน จากการเดินทางเข้ามาของแฟนคลับต่างชาติเพื่อท่องเที่ยวตามรอยสถานที่ถ่ายทำซีรีส์ และเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับซีรีส์วายในไทย
SCB EIC มองว่า ซีรีส์วายถือเป็นหนึ่งในธุรกิจสื่อบันเทิงของไทย ที่มีศักยภาพในการเติบโต และมีโอกาสขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีความสนใจซีรีส์วายไทยมากขึ้น อย่างอเมริกาใต้และยุโรป โดยผู้ผลิตซีรีส์วายไทยต้องเข้าถึงและเข้าใจผู้ชมที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อคว้าโอกาสในการเจาะตลาดใหม่นี้ อาทิ การเพิ่มคำบรรยายภาษาต่าง ๆ และการเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับโลก เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพผลงานที่ดีขึ้น รวมถึงได้เข้าใจความต้องการของผู้ชมในตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตซีรีส์วาย ยังต้องคงเสน่ห์เฉพาะตัวของซีรีส์วายไทย ด้วยการสอดแทรกวัฒนธรรมไทย และการพัฒนาคุณภาพผลงานให้หลากหลาย เพื่อรักษาฐานผู้ชมในตลาดเดิมให้คงอยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้กระแสซีรีส์วายของไทยจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมในหลายประเทศ แต่การขับเคลื่อนซีรีส์วายไทยให้เติบโตต่อเนื่อง จำเป็นต้องอาศัยการส่งเสริมจากนโยบายที่เหมาะสมจากภาครัฐ เพื่อยกระดับภาพยนตร์และซีรีส์วายไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
- การกระตุ้นเม็ดเงินการผลิตให้มากขึ้น อย่างการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และการขยายนโยบายคืนเงินค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำให้ครอบคลุมถึงการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายไทย เช่นเดียวกับการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์และซีรีส์จากต่างประเทศ
- สนับสนุนการเผยแพร่สื่อบันเทิงไทยในต่างประเทศ อาทิ การอำนวยความสะดวกและสนับสนุนเงินทุนในการเดินทางไปเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ และงานจับคู่ธุรกิจเพื่อซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์หรือซีรีส์ในต่างประเทศ
- นโยบายอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาการผลิตซีรีส์วาย เช่น การสนับสนุนเงินทุนในการผลิต และการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายของไทยได้ร่วมงานกับผู้ผลิตต่างประเทศ เป็นต้น