นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าว่า อุตสาหกรรมเกมขยายตัวอย่างรวดเร็วและกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมจะเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศด้านเกม ซึ่งเนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดกรอบการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมในทุกมิติ ตั้งแต่การพัฒนากำลังคน การส่งเสริมให้เกิดการยกระดับผู้ประกอบการเกมไทยผ่านกลไกต่าง ๆ การกำหนดแนวทางป้องกันผลกระทบทางสังคม และการดึงดูดการลงทุนของผู้ประกอบการระดับโลกเข้ามาในประเทศไทย
"การกำหนดทิศทางของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย และตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นการสร้างรากฐานของอุตสาหกรรมเกม เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศสู่ระดับสากล ต่อยอดโอกาสสู่อาชีพใหม่ อีกทั้งสร้างรายได้และเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน" นายประเสริฐ กล่าว
ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและพัฒนา ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกระจายการจัดจำหน่าย และสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกมในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล พัฒนามาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการกำกับ และควบคุมอุตสาหกรรมเกม เพื่อนำไปสู่การกำกับและบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ อีกทั้งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมตลอดห่วงโซ่อุปทานและมูลค่าเกมผ่านกองทุนส่งเสริม
โครงของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม ประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงนิยาม การตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง การขึ้นทะเบียน การกำกับ และกองทุนส่งเสริม โดยกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการปกป้องสังคม โดยเฉพาะการดูแลเยาวชน การป้องกันผลกระทบทางจิตใจ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้อุตสาหกรรมเกมในเชิงบวก ทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพ และขีดความสามารถทางการแข่งขัน อีกทั้งผลักดันประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืนต่อไป โดยคาดว่าจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนเมษายน และจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2568