"ศุภวุฒิ" เตือนรับมือจุดเปลี่ยน "ระเบียบโลก" ชี้ทางรอดของไทยคือ "อาหาร-บริการ"

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 14, 2025 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวในเวที KKP Year Ahead 2025 ว่า ในภาวะโลกมีความแบ่งแบกทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากการกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งการที่ทั้ง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ระดับโลกกระทบกระทั่งกันย่อมกระทบกับเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีโอกาสในทาง 3 ทางเลือก ประกอบด้วย การเกษตร อาหาร และบริการ

หลังการกลับมาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นการสั่นคลอนโครงสร้างระเบียบโลกแบบที่ทุกคนรู้จัก เพราะ ทรัมป์ ได้แสดงความต้องการถอนตัวหรือการลดบทบาทองค์กรหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น NATO, WHO และ COP ซึ่งสหรัฐฯ เคยเป็นผู้สนับสนุนสำคัญมาโดยตลอด การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจึงจะไม่ใช่แค่ Presidential Change แต่เป็น Paradigm Shift และเป็นความไม่แน่นอนระดับโลก

ขณะเดียวกันประเทศจีน ที่ผ่านมาได้พยายามลดการพึ่งพาจากสหรัฐ และเพิ่มสิ่งที่สหรัฐต้องพึ่งพาจีนมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นจุดแข็งของจีน โดยปัจจุบันสินค้าอุตสาหกรรมจีนมีสัดส่วน 35% ในตลาดโลก ซึ่งจีนมุ่งเป้าการเป็นผู้นำด้านสินค้าอุตสาหกรรม เช่น แผงโซลาร์เซลล์ และยานยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม จีนยังมีปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นที่สูงกว่า 40% ของ GDP ไม่รวมหนี้อื่น ๆ ซึ่งหากแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ได้อาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก รวมทั้งปัญหาสินค้าคงค้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ เงินหยวนที่อ่อนค่า ทำให้กำลังซื้อในประเทศตกต่ำจนกระทั่งเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

จากประเด็นดังกล่าวไทยยังมีโอกาส เนื่องจากจีนมีความต้องการนำเข้าอาหารมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานในประเทศไม่เอื้ออำนวย ซึ่งจีนมีประชากรมากถึง 20% ของโลก แต่มีพื้นที่เพื่อการเกษตรน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ของโลก และมีทรัพยากรน้ำเท่ากับ 6% ของโลก ดังนั้น จีนจึงจะต้องเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรรายใหญ่ของโลกไปอีกนาน และนี่คือโอกาสที่ประเทศไทยจะใช้ความได้เปรียบในด้านการเกษตรและอาหารในการ ขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ จีนก็ยังนำเข้าสุทธิการบริการ โดยมีความต้องการในด้านการท่องเที่ยว ทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งในส่วนนี้ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีของสหรัฐ เพราะไม่ว่าจีนหรือสหรัฐฯ ก็ไม่มีแนวคิดที่จะเก็บภาษีจากผู้ที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยว ส่วนภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่ว่าจะหายไป แต่จะยังคงมีอุตสาหกรรมเฉพาะเจาะจง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ในส่วนของ assembly, testing and packaging แต่อาจจะไม่ใช่หัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (economic engine) ของประเทศไทยในบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป

นายศุภวุฒิ กล่าวว่า มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังค่อนข้างท้าทาย โดยเฉพาะจากประเด็นนโยบายของทรัมป์และจีนที่น่าจะชนกับสหรัฐ ขณะเดียวกันจีนก็มีปัญหาภาวะเงินเฟ้อต่ำ ภายในประเทศมีการแข่งขันรุนแรง ทำให้ต้องออกมาหาตลาดข้างนอก ซึ่งไทยก็ได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจอ่อนแรงลงได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่หลังโควิดกระท่อนกระแท่นมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะว่าเวลาเศรษฐกิจโตช้าก็อาจจะล้มได้

ด้านประเด็นการนำ Stable coin มาใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนตามที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานปาฐกถาพิเศษวานนี้นั้น มองว่าปัจจุบันก็มีการซื้อขายแลกเปลี่ยน Stable coin ในตลาดอยู่แล้ว เพียงแต่รัฐบาลอาจเข้ามาทำให้สะดวกมากขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่การจะใช้เป็นสกุลเงินต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ สามารถแลกเปลี่ยนได้ เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่เป็นที่ยอมรับ สามารถทำบัญชีได้ และสามารถวัดมูลค่าได้ อย่างไรก็ตามราคาต้องค่อนข้างนิ่งก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ