ชี้ทางรอด! ธุรกิจเม็ดพลาสติกไทย ฝ่าปัญหาสินค้าจีนทะลัก-แรงกดดัน ESG

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 15, 2025 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ชี้ทางรอด! ธุรกิจเม็ดพลาสติกไทย ฝ่าปัญหาสินค้าจีนทะลัก-แรงกดดัน ESG

Krungthai COMPASS ประเมินแนวโน้มธุรกิจเม็ดพลาสติกไทยในปี 68-69 ว่า ปริมาณการจำหน่ายเม็ดพลาสติกในประเทศและส่งออกของไทย จะอยู่ที่ 10-11 ล้านตันต่อปี ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในปี 60-62 เฉลี่ยที่ 12.3 ล้านตันต่อปี แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายเม็ดพลาสติกในประเทศของไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการขยายตัวของการค้าออนไลน์ และการจัดส่งอาหาร จะทำให้ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกสำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งมีสัดส่วนการใช้เม็ดพลาสติกมากถึง 38% ของปริมาณเม็ดพลาสติกทั้งหมด อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะช่วยหนุนการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี ในปี 68-69 ปริมาณการส่งออกเม็ดพลาสติกของไทย มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า และการแข่งขันกับเม็ดพลาสติกจากคู่แข่งที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจีน ซึ่งมีความได้เปรียบจากการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) เนื่องจากจีนสามารถผลิตเม็ดพลาสติกในปริมาณมาก ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้ราคาเม็ดพลาสติกจีนต่ำกว่าไทย ซึ่งอาจกดดันต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก

ทั้งนี้ ปริมาณการจำหน่ายเม็ดพลาสติกในประเทศและส่งออกของไทย มีแนวโน้มอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วง Pre-COVID กดดันต่ออัตราการใช้กำลังการผลิตของธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกของไทย โดยคาดว่าในปี 68-69 อัตราการใช้กำลังการผลิตเม็ดพลาสติกของไทยจะอยู่ที่ 82.1% และ 82.5% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ตามลำดับ ซึ่งลดลงถึง 15% จากระดับ 96.6% ในปี 60

นอกจากปัจจัยกดดันด้านปริมาณแล้ว ยังมีปัจจัยกดดันด้านราคาเม็ดพลาสติกที่มีแนวโน้มลดลง ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อาจกดดันต่อรายได้ของธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกไทย โดยคาดว่าในปี 68-69 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 70.5 และ 69.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือลดลง 11.4% และลดลง 1.3% ตามลำดับ

โดยจะทำให้ราคา "แนฟทา" ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเม็ดพลาสติกมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับความต้องการเม็ดพลาสติกที่อ่อนแอตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางการขยายกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาเม็ดพลาสติกเฉลี่ยในกลุ่ม PE, PP และ PET ของตลาดอาเซียนมีแนวโน้มลดลงมาอยู่ที่ราว 956 และ 988 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ตามลำดับ

*3 ปัจจัยกดดันธุรกิจเม็ดพลาสติกไทย ในปี 68-69

Krungthai COMPASS ประเมินว่า การจำหน่ายเม็ดพลาสติกในประเทศ และส่งออกของไทย ในปี 68-69 เผชิญ 3 ปัจจัยกดดันหลัก ดังนี้

1. ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีแนวโน้มลดลง ตามปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศ แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายเม็ดพลาสติกในประเทศของไทยในปี 68-69 จะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ แต่ยังถูกกดดันจากปริมาณการผลิตรถยนต์ของไทยที่คาดว่าจะอยู่ที่เพียง 1.47-1.53 ล้านคันต่อปี ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 60-62 ที่ 2.06 ล้านคันต่อปี เกือบ 30%

โดยปัจจัยกดดันมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่จำกัด จากหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างจากการที่ไทยเน้นผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) เป็นหลัก ขณะที่ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ ICE ที่ผลิตในไทย โดยเฉพาะรถยนต์ EV ที่นำเข้าจากจีน ทำให้ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ปริมาณการผลิตรถยนต์ ICE ของไทยยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลกระทบให้ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกในอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย

2. การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้าเม็ดพลาสติกจากไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดย IMF ประเมินว่า ในช่วงปี 68-69 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวเฉลี่ยเพียง 4.3% ต่อปี ซึ่งลดลงจากขยายตัวเฉลี่ย 6.5% ต่อปี ในช่วงปี 60-62 ประกอบกับปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน และจีนมีนโยบายพึ่งพาตนเอง (Self-Sufficiency) เพื่อลดการนำเข้า ทำให้ความต้องการนำเข้าเม็ดพลาสติกสำหรับเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในจีนมีแนวโน้มลดลง

สอดคล้องกับข้อมูลของ Nexant ประเมินว่า ในปี 68-69 ความต้องการเม็ดพลาสติก PE และ PP ในจีนเฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 46 และ 39 ล้านตัน ตามลำดับ หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4-5% ต่อปี ลดลงจากขยายตัวเฉลี่ย 7% ต่อปี ในปี 60-66 ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกเม็ดพลาสติกของไทย เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงราว 30% ของปริมาณการส่งออกเม็ดพลาสติกทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน (Over capacity) ในจีน ทำให้เม็ดพลาสติกจีนมีแนวโน้มเข้ามาตีตลาดอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา จีนมีการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก PP จากนโยบายพึ่งพาการผลิตในประเทศ

ขณะที่ความต้องการเม็ดพลาสติกในจีน มีแนวโน้มลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้ผู้ผลิตจีนส่งออกเม็ดพลาสติกเข้ามาตีตลาดอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น สะท้อนจากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 67 ส่วนแบ่งตลาดของเม็ดพลาสติก PP ของจีนในตลาดอาเซียนสูงถึง 21% จาก 7% ในปี 62

ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของเม็ดพลาสติก PP ของไทยในตลาดอาเซียน ลดลงเหลือเพียง 6% จาก 11% ในปี 62 เช่นเดียวกับส่วนแบ่งตลาดของเม็ดพลาสติก PP ของจีนในไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 33% จาก 13% ในปี 62 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากข้อมูลของ Nexant ประเมินว่า ในปี 68-69 จะมีกำลังการผลิตส่วนเกินของเม็ดพลาสติก PP ในจีนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 12 ล้านตันต่อปี ซึ่งอาจทำให้ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกของไทย เผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นกับเม็ดพลาสติกจีน ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก

3. สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกเม็ดพลาสติกไทย โดยเมื่อเดือน พ.ค.67 สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตรา 25-100% โดยครอบคลุมสินค้าต่าง ๆ ที่ใช้เม็ดพลาสติกเป็นส่วนประกอบ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยา ส่วนประกอบของแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และหน้ากาก เป็นต้น

นอกจากนี้ นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายหลังโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง อาจทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 60% อาจทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากจีนมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเม็ดพลาสติกไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน รวมทั้งอาจเพิ่มความเสี่ยงที่เม็ดพลาสติกจีนจะทะลักเข้ามาในไทยและประเทศที่ไทยส่งออกอย่างกลุ่มอาเซียนมากขึ้น

* จับตาธุรกิจเม็ดพลาสติกไทยในระยะถัดไป

1. ประเด็นด้าน ESG ของประเทศคู่ค้าที่เข้มข้นขึ้น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น กดดันต่อต้นทุนและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทย โดยปัจจุบัน สหภาพยุโรปออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบในปี 69 โดยสินค้าที่ถูกจัดเก็บภาษีคาร์บอนในระยะแรก ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงในกระบวนการผลิต

อย่างไรก็ดี ในปี 69 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) อาจขยายขอบเขตของมาตรการ CBAM ไปยังสินค้ากลุ่มเม็ดพลาสติก ซึ่งอาจกดดันผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทย นอกจากนี้ สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมาย Clean Competition Act เพื่อจัดเก็บภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า โดยคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในปี 69 ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทย มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการส่งออกที่สูงขึ้น

2. Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตครอบคลุมการผลิตเคมีภัณฑ์อินทรีย์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดพลาสติกจากฟอสซิล อาจกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทย เนื่องจากธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกไทย ต้องใช้เงินลงทุนที่สูง เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับเกณฑ์ ESG เช่น การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ หากบริษัทผลิตเม็ดพลาสติกไทยไม่สามารถปรับตัวได้ตามมาตรฐาน Thailand Taxonomy อาจเผชิญกับความเสี่ยงจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนที่เหมาะสม รวมทั้งมีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่ลดลงหรือไม่ได้รับการสนับสนุนอีกด้วย

* การปรับตัวของธุรกิจเม็ดพลาสติกไทยให้โตอย่างยั่งยืน

Krungthai COMPASS มองว่า ผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทย ควรปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และสร้างความสามารถทางการแข่งขันที่ยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem ดังนี้

  • ผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทย อาจร่วมมือกับพันธมิตร ในการวิจัยและพัฒนาเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพสูง รวมทั้งลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียวมากขึ้น โดยอาจร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐในการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ และเม็ดพลาสติกรีไซเคิล รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของเม็ดพลาสติกให้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น เม็ดพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการแพทย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ จะช่วยหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาจากสินค้าเม็ดพลาสติกทั่วไป และช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ อาจลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และเทคโนโลยี CCUS เป็นต้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

  • ภาครัฐ สามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว เช่น การสนับสนุนเงินทุนในการวิจัยและพัฒนาเม็ดพลาสติกชีวภาพ หรือการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมถึงส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี CCUS ให้มีต้นทุนที่ลดลง ควบคู่ไปกับการเร่งออกมาตรการสนับสนุนเชิงนโยบาย เช่น มาตรการภาษีพลาสติก (Plastic Tax) ข้อกำหนดสัดส่วนการใช้พลาสติกรีไซเคิล (Recycled Content) ในผลิตภัณฑ์พลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติก การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการที่ใช้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ ภาครัฐอาจลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการรีไซเคิล และการจัดการขยะพลาสติก เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจนำวัสดุรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่มากขึ้น
  • ภาคการเงิน สามารถให้คำปรึกษา รวมทั้งพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อสนับสนุนการปรับตัวสู่ความยั่งยืน โดยปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ของไทย ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจมากขึ้น อย่างโครงการ "Financing the Transition" ของธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ไทย ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน สำหรับผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น สินเชื่อสีเขียว (Green Loans) และสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan: SLL) ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และจูงใจให้ธุรกิจปรับตัวสู่ความยั่งยืนมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ