อุตสาหกรรมน้ำตาลปี 68 แนวโน้มสดใส ภัยแล้งคลี่คลาย-ส่งออกเพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 16, 2025 12:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อุตสาหกรรมน้ำตาลปี 68 แนวโน้มสดใส ภัยแล้งคลี่คลาย-ส่งออกเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า รายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวดี โดยมีปัจจัยหนุนจากปริมาณผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งช่วยหักล้างผลของราคาที่มีแนวโน้มลดลง ปริมาณผลผลิตน้ำตาลไทยในปีการผลิต 67/68 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.5% จากปีการผลิต 66/67 มาอยู่ที่ 10.6 ล้านตัน ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 96.7 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลจากผลผลิตต่อไร่ และพื้นที่เพาะปลูกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย

ในขณะที่ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยในปี 68 คาดว่าจะปรับตัวลดลง 2.8%YOY มาอยู่ที่ 561.5 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน สอดคล้องกับราคาน้ำตาลทรายดิบรวมพรีเมียม ที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยทำได้ (ใช้อ้างอิงราคาส่งออกของโรงงานน้ำตาลอื่น) ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 3.1% จากฤดูกาลการผลิตที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 23.0 เซนต์/ปอนด์ เนื่องจากแม้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปี 67 เป็นต้นไป ราคาน้ำตาลโลกจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงกลางปี 67 จากภาวะขาดดุลของน้ำตาลในตลาดโลก แต่ระดับราคาจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาน้ำตาลโลกในช่วงปลายปี 66 และต้นปี 67 ซึ่งเป็นช่วงเวลาการทำราคาน้ำตาลของฤดูกาลการผลิต 66/67

สำหรับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปี 68 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 28.7%YOY มาอยู่ที่ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปริมาณการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 32.4%YOY มาอยู่ที่ 6.5 ล้านตัน ในขณะที่มูลค่าตลาดน้ำตาลในประเทศ จะอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 1.0%YOY จากปริมาณการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัว ตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

* ความเสี่ยง-ปัจจัยท้าทาย ของอุตสาหกรรมน้ำตาล

SCB EIC มองว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 68 ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก และสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว โดยภาวะเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลโลก ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลโลกเติบโตต่ำกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลให้ราคาส่งออกน้ำตาลลดลงมากกว่าที่คาด

ในขณะที่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตอ้อย ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยหากบราซิล ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลมากเป็นอันดับ 1 ของโลก เผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรงน้อยกว่าที่คาด ก็จะทำให้ราคาส่งออกน้ำตาลปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาด ในขณะเดียวกัน หากไทยเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในช่วงเปิดหีบ (ธ.ค.67-เม.ย.68) ก็อาจจะทำให้ผลผลิตน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด

สำหรับในระยะต่อไป อุตสาหกรรมน้ำตาลยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากนโยบาย และมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ กระแสความยั่งยืน และเทรนด์รักสุขภาพของผู้บริโภค โดยมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการการค้าระหว่างประเทศ การเก็บภาษีคาร์บอน จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น

ในขณะที่เมกะเทรนด์ความยั่งยืน (Sustainability) จะทำให้ผู้บริโภค หรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ มีแนวโน้มที่จะหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมากขึ้นในอนาคต ส่วนกระแสรักสุขภาพ จะส่งผลให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจการรักษาสุขภาพ หันมาบริโภคสินค้าที่ปราศจากน้ำตาลมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลปรับตัวลดลง

* การแข่งขันของอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ปี 68

SCB EIC ระบุว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลไทย มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดในระดับสูง ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดกระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย อุตสาหกรรมน้ำตาลถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากภาครัฐ โดยผู้ที่จะสามารถดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายได้ จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยภาครัฐ เช่น จุดที่ตั้งโรงงานต้องห่างจากโรงงานน้ำตาลที่ได้รับใบอนุญาตไว้แล้วไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร หรือต้องมีการเตรียมปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิต ส่งผลให้การเข้ามาแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่เป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ การเข้ามาประกอบธุรกิจน้ำตาลในไทยของบุคคลต่างด้าว ก็จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และการนำเข้าน้ำตาลจะต้องได้รับการอนุมัติจากภาครัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยไม่ต้องเผชิญการแข่งขัน ทั้งจากผู้เล่นต่างชาติ และผู้เล่นรายใหม่

โดยในปีการผลิต 66/67 มีโรงงานน้ำตาลเปิดหีบผลิตน้ำตาลจำนวน 57 โรงงาน (ปีการผลิต 67/68 จะมีโรงงานเปิดเพิ่มอีก 1 โรงงาน) โดยกว่า 75% ของโรงงานทั้งหมด หรือ 43 โรงงาน อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ 13 กลุ่มบริษัท ในขณะที่อีก 14 โรงงานเป็นโรงงานอิสระ

ทั้งนี้ ในปีการผลิต 66/67 กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ 5 อันดับแรก ครองส่วนแบ่งตลาดปริมาณการผลิตน้ำตาลรวมกันสูงถึงราว 54% โดยกลุ่มมิตรผล มีส่วนแบ่งตลาดมากเป็นอันดับ 1 (23.9%) ตามมาด้วยกลุ่มไทยรุ่งเรือง (9.1%) โคราช (8.9%) ท่ามะกา หรือ KSL (6.4%) และไทยเอกลักษณ์ หรือ KTIS (5.8%) ในขณะที่น้ำตาลครบุรี (KBS) และน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) มีส่วนแบ่งตลาด 4.6% และ 3.1% ตามลำดับ

SCB EIC มองว่า ในปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำตาล มีกำลังการผลิตมากกว่าปริมาณอ้อยในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันจัดหาอ้อยมาป้อนโรงงานให้ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนในการผลิตต่อหน่วยลง โดยความรุนแรงในการจัดหาอ้อย จะขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตอ้อยในแต่ละปี ซึ่งในปีการผลิตที่ผ่านมา ปริมาณอ้อยปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือ ส่งผลให้การแข่งขันมีความรุนแรง

ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่ผู้ประกอบการใช้ในการจัดหาอ้อย (นอกจากการทำสัญญาซื้อขายอ้อยล่วงหน้ากับชาวไร่อ้อย) คือ การให้ราคารับซื้ออ้อยที่สูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ถูกกำหนด โดยแนวทางดังกล่าว ประกอบกับผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้ที่ลดลง จะมีส่วนทำให้กำไรของโรงงานน้ำตาลปรับตัวลดลง

จากข้อมูลของผู้ประกอบการธุรกิจน้ำตาลในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 67 (ม.ค.-ก.ย.) กำไรสุทธิ และอัตรากำไรสุทธิของผู้ประกอบการลดลง 19.1%YOY และ 0.8 percentage points ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ผลผลิตอ้อยที่จะเพิ่มขึ้นในปีการผลิต 67/68 จะทำให้การแข่งขันลดลง ผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำไรของผู้ประกอบการ

ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดยังมีการแข่งขันในด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ การยกระดับคุณภาพสินค้า การพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพ เช่น น้ำตาลแคลอรีต่ำ และการมุ่งสู่ความยั่งยืน เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และงดรับซื้ออ้อยไฟไหม้

"ดังนั้น กลุ่มบริษัทที่สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกร สร้างแบรนด์ มีประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลสูง มีคุณภาพสินค้าที่ดี และตอบโจทย์ผู้บริโภค และมีการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้" บทวิเคราะห์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ