นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. มีมติให้นำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุน ทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed in Tariff (FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ Feed in Tariff (FiT) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท
ปัจจุบัน SPP และ VSPP อยู่ที่ 533 ราย รวมกำลังผลิต 3,940 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ หากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ Feed in Tariff ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงทันที และไม่กระทบต่อผู้ประกอบการด้วย 2 เหตุผล คือ 1. ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าผ่านจุดคุ้มทุนแบบ Adder และได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 2. การรับซื้อไฟฟ้าในอดีต หน่วยละ 11.1617 บาท เนื่องจากอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วยเช่นกัน หรือแม้โครงการผ่าน 10 ปี และเงินอุดหนุน 8 บาทหมดไปแล้ว แต่ราคารับซื้อก็ยังอยู่ที่ 3.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาที่สำนักงานนโยบายและแผน (สนพ.) คำนวณในปี 2565 หน่วยละ 2.1679 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเป็นเงินหน่วยละ 0.9938 บาท ถือเป็นกำไรที่ผู้ประกอบการไม่ควรได้รับ
ประการสำคัญ สัญญารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มนี้ ระบุว่าให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ หมายความว่าไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา ซึ่งหากไม่มีการปรับปรุงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผู้ประกอบกิจการก็จะได้กำไรเกินควร อันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีวันสิ้นสุด
จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนม.ค. - เม.ย. 68 ได้ระบุค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Policy Expense) จากการรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าหน่วยละ 17 สตางค์ หากคณะรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดนโยบายปรับค่าไฟฟ้ารับซื้อในส่วนนี้ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ก็จะลดค่าไฟฟ้าได้ทันที 17 สตางค์ หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.15 บาท ก็จะลดลงเหลือหน่วยละ 3.89 บาท จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย ดังนั้นหากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์ จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ 33,150 ล้านบาท โดยจะเร่งทำหนังสือเสนอน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. โดยเร็วที่สุด
"ก่อนหน้านี้ ในช่วงวิกฤตการณ์ราคาพลังงาน 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้ามีราคาที่สูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และ กกพ. เองก็ได้รับมอบหมายจากภาคนโยบาย ให้ทำการศึกษาทบทวนมาตรการบรรเทาผลกระทบค่าไฟฟ้า เพื่อลดค่าครองชีพให้พี่น้องประชาชน ซึ่ง กกพ. ได้นำเสนอมาตรการในหลายทางเลือก เพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า และทางเลือกหนึ่งในขณะนั้นคือ การทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP พลังงานหมุนเวียน ตอนนี้ กกพ. เห็นว่า ปัจจุบันสถานการณ์เหมาะสม จึงได้หยิบยกขึ้นมาหารือ และให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอภาคนโยบาย เพื่อทบทวนและเป็นทางเลือกในการลดค่าไฟให้พี่น้องประชาชนได้อีกทางหนึ่ง" นายพูลพัฒน์ กล่าว
ส่วนกรณีมีการเสนอให้ยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดหน่วยละ 2.1679 บาท เพื่อทำให้ค่าไฟถูกลงนั้น นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ชี้แจงว่า การรับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.1679 บาท ไม่ได้ทำให้ค่าไฟบ้านแพงหรือไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เพราะไฟฟ้าในส่วนนี้ผลิตมาเพื่อขายให้กับนักลงทุนที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดและมีอัตราที่สูงกว่าไฟบ้าน
ฉะนั้นแม้ยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.1679 บาทไปแล้ว ไม่ได้ทำให้ค่าไฟบ้านถูกลง เพราะค่าไฟฟ้าจากกลุ่ม Adder และ FiT ซึ่งมีราคาหน่วยละ 3.1617 - 11.1617 บาท ฝังอยู่กับค่าไฟบ้าน ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ กกพ.จัดหาไปแล้วนั้น ไปคิดกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้ง 2 ส่วนนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกันในเรื่องของราคาค่าไฟ
ขณะที่จากตัวเลขต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าตามประเภทเชื้อเพลิง (Generation Mixed) เช่น ลิกไนต์ 1.52 บาท น้ำ 1.45 บาท ก๊าซ 3.18 บาท เป็นต้น เมื่อนำราคาทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ย พบว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.02 บาท ดังนั้น การนำไฟฟ้าที่มีราคารับซื้อต่ำกว่า 3.02 บาทเข้าระบบ ก็จะทำราคาค่าไฟเฉลี่ยลดลง ในทางตรงกันข้าม หากนำไฟฟ้าที่มีต้นทุนการรับซื้อสูงกว่า 3.02 บาทมาเพิ่มในระบบ ก็จะทำให้ราคาค่าไฟเฉลี่ยสูงขึ้น ตัวเลขนี้จะทำให้ประชาชนเห็นว่า ควรจัดการกับ Adder กับ Feed in Tariff ซึ่งมีต้นทุนตั้งแต่ 3.1617 ถึง 11.1617 บาทโดยเร็ว และจัดหาไฟฟ้าที่มีราคาต่ำกว่า 3.02 บาท เพื่อให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงเรื่อย ๆ